ข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคม ต่อ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
ปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะการค้าหญิงและเด็กได้รับการตระหนักจากประชาคมโลกว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในความพยายามนั้น ได้แก่ การยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ…..โดยแก้ไขปรับปรุงจากพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็กพ.ศ.๒๕๔๐ ที่ยังไม่ครอบคลุมกับสภาพปัญหาการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน และขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ๒๕๔๘แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เครือข่ายสามพรานต้านการค้ามนุษย์ (ชื่อเดิม เครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก) และภาคีต่อต้านการค้าเด็กและหญิงประเทศไทย ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชนทั้งในเมืองและชนบท ปรารถนาให้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ….เป็นเครื่องมือที่สามารถจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นของภาคประชาสังคมขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากองค์กรและหน่วยงาน ตลอดจนสาธารณชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิการยน 2547 ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างพ.ร.บป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ..…ในมุมมองของเครือข่ายภาคประชาสังคม” เพื่อเป็นเวทีให้ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ อาทิ เด็ก ผู้หญิง แรงงาน และชาติพันธุ์ ได้นำเสนอความคิดเห็นที่ได้รวบรวมในแต่ละภูมิภาคแก่สาธารณชน ณ โรงแรมเอส. ดี. อเวนิว กรุงเทพฯ โดยองค์การ แตร์ เด ซอม ประเทศไทย และ องค์การช่วยเหลือเด็ก (สหราชอาณาจักร) เป็นผู้ร่วมสนับสนุนในการจัดสัมมนาครั้งนี้
และได้เรียนเชิญคุณนัยนา สุพาพึ่ง ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรี และคุณวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ส.ส.พรรคชาติไทยร่วมอภิปรายและให้ความคิดเห็น ผลของการสัมนาครั้งนี้ได้รวบรวมไว้ใน ข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ….. และหนึ่งในข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ…. ได้แก่คำจำกัดความของการค้ามนุษย์ ซึ่งในมาตรา๔ ของตัวร่างพระราชบัญญัติได้เพิ่มเติมความหมายของ การค้ามนุษย์ โดยยึดคำนิยามตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรและพิธีสารเพื่อป้องกันปราบปรามลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะหญิงและเด็ก
อย่างไรก็ตามสืบเนื่องจากปัจจุบันขบวนการค้ามนุษย์ได้พัฒนารูปแบบ วิธีการล่อลวงที่มีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมเห็นว่าบทนิยามการค้ามนุษย์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ยังไม่ครอบคลุมการกระทำที่ให้บุคคลอยู่ในภาวะจำยอมด้วย การผูกมัดด้วยภาระหนี้สิน ดังเช่นกรณีตัวอย่างของผู้เสียหายต่อไปนี้
กรณีตัวอย่าง
การผูกมัดด้วยภาระหนี้สิน บานชื่น (นามสมมุติ) อายุ ๒๖ ปี เคยทำงานบริการทางเพศที่กรุงเทพฯ เมื่อมีนายหน้าชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยให้ข้อมูลว่าไม่ต้องเสียค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายใดๆ บานชื่นออกเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปประเทศฟิลิปปินส์และอยู่ที่นั่น ๒๕ วัน
นายหน้าได้ทำหนังสือเดินทางปลอมให้บานชื่นเป็นชาวฟิลิปปินส์ และพาบานชื่นเดินทางต่อไปประเทศเกาหลีใต้ก่อนนั่งเรือต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น บานชื่นถูกขายให้มาม่าซังชาวไต้หวันและถูกบังคับให้ทำงานบริการทางเพศเพื่อชดใช้หนี้ ๗๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อหนี้ใกล้หมดบานชื่นถูกขายต่อให้มาม่าซังชาวไทยอีกครั้ง
คราวนี้บานชื่นต้องทำงานชดใช้หนี้อีก ๗๐๐,๐๐๐ บาท จากนั้นก็ถูกขายต่อไปที่ใหม่อีก ๑๖๐,๐๐๐ บาท ในที่สุดบานชื่นถูกจับและถูกส่งตัวกลับบ้านโดยที่ไม่มีเงินเก็บแม้แต่น้อย (ข้อมูลจากโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ : SEPOM )
ต่อประเด็นนี้ คุณวีรศักดิ์ได้แสดงความคิดเห็นว่า …..ค่อนข้างเห็นด้วย เช่นในกรณีที่ไปญี่ปุ่นแล้วพบว่าตนเองต้องเป็นหนี้สามล้าน ไม่ทำก็ไม่ได้ ในกรณีนี้อาจมองว่าไม่ได้ถูกข่มขู่ ถูกบังคับ ถูกลักพาตัว หรือถูกหลอกลวง แต่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจโดยมิชอบ และเป็นการทำให้บุคคลนั้นอยู่ในสภาวะที่จำยอมต้องกระทำ
ในขณะที่คุณนัยนา เสนอแนะถึงยุทธศาสตร์ในการผลักดันข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อร่างพ.ร.บนี้ว่า ในการนำไปเสนอกฤษฎีกาหรือนำเสนอในชั้นกรรมาธิการ ข้อมูลจากประสบการณ์การทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะอธิบายให้ผู้มีอำนาจออกกฎหมายได้เข้าใจ และยอมรับ เพราะหัวใจของร่างกฎหมายคือการตอบโจทย์ที่มุ่งคลายความเดือดร้อน ทุกข์ยากของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เครือข่ายสามพรานต้านการค้ามนุษย์ และภาคีต่อต้านการค้าเด็กและหญิงประเทศไทย มีความต้องการเผยแพร่ ข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ….. เพื่อให้ได้รับการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติและสาธารณชนวงกว้าง
หากท่านใดมีความสนใจเอกสารนี้กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ เครือข่ายสามพรานต้านการค้ามนุษย์ ตู้ปณ. ๔๗ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐โทร. ๐๒ ๔๓๓ ๕๑๔๙, ๐๒ ๔๓๕ ๑๒๔๖ โทรสาร ๐๒ ๔๓๔ ๖๗๗๔