ข้อเรียกร้องของแนวร่วมผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ แกนนำหญิงชาวบ้านจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ได้ร่วมประชุมเพื่อระดมข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในปัจจุบัน และความคิดเห็นของผู้หญิงต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลจากการประชุมแนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพได้มีข้อเรียกร้องให้สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติหลักการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและคุ้มครองผู้หญิงให้ปลอดภัยจากความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศทั้งในครอบครัวและในพื้นที่สาธารณะรวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องความเสมอภาคหญิงชายในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยบรรจุมาตรา ต่อไปนี้
1. หมวดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
1.1 สิทธิและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อให้เกิดหลักประกันสิทธิ ความเสมอภาค ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกกลุ่ม อันเกิดจากความแตกต่างทางเพศ ชาติพันธุ์ วิถีทางเพศที่แตกต่าง อนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง และห้ามบัญญัติกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ยกเว้นมาตรการพิเศษที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และเพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นนั้น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 30 เป็น มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การบัญญัติกฎหมาย หรือการกระทำใดที่เป็น การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศสภาวะและเพศโดยเจตจำนง อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ภาวะการตั้งครรภ์ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือเพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
1.2 สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องได้รับสิทธิในการดำรงชีวิต ตามวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ความเชื่อของกลุ่มตน โดยมิละเมิดสิทธิของผู้อื่น ให้บัญญัติมาตราใหม่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา….. บุคคลย่อมได้รับการเคารพทางเลือกในวิถีชีวิตที่แตกต่าง และมีสิทธิในการดำรงชีวิตตามชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา ความเชื่อของตนที่ไม่ละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น
1.3 สิทธิของบุคคลที่พึงได้รับการคุ้มครองจากการกระทำความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศในทุกรูปแบบ ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงทั้งในครอบครัว และในพื้นที่สาธารณะ แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดให้รัฐคุ้มครองบุคคลจากการใช้ความรุนแรงเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้รัฐคุ้มครองและขจัดการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในครอบครัวและพื้นที่สาธารณะ โดยบัญญัติมาตราใหม่ มาตรา……บุคคลมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและเยียวยาโดยรัฐจากความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศ ทั้งในครอบครัวและในพื้นที่สาธารณะ
2. แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
2.1 รัฐต้องจัดสวัสดิการให้บุคคลที่ประสบปัญหาความรุนแรง สืบเนื่องจากบุคคลโดยเฉพาะผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและในพื้นที่สาธารณะยังไม่ได้รับสวัสดิการ ความช่วยเหลือที่เพียงพอจากรัฐ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรงบประมาณ และดำเนินการร่วมกับภาคประชาสังคม ชุมชน เพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยให้บัญญัติมาตราใหม่ มาตรา ….รัฐต้องจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ผู้ที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ทั้งในครอบครัวและในพื้นที่สาธารณะ โดยจัดสรรงบประมาณ ดำเนินการร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศ
2.2 รัฐต้องกำหนดแนวนโยบายพื้นฐาน เรื่อง ผู้หญิง ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ระบุแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้เพียงว่า รัฐต้องส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชายนั้น ยังขาดความชัดเจนที่เพียงพอในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย จึงต้องแยกแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเรื่องผู้หญิงออกจากการให้การคุ้มครองบุคคลกลุ่มอื่นๆโดยเฉพาะหน้าที่ของรัฐในการสร้างมาตรการที่เอื้อให้ผู้หญิงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาได้เข้าถึงสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมเช่นเดียวกันกับบุคคลกลุ่มอื่น และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกระดับโดยให้คงมาตรา 80 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540ไว้ และให้เพิ่มอีกหนึ่งมาตราต่อไปนี้ เพื่อให้รัฐกำหนดแนวนโยบายพื้นฐาน เรื่อง ผู้หญิงโดยเฉพาะ มาตรา……รัฐต้องส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย สร้างมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของผู้หญิงในทุกระดับ ทั้งการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
2.3 รัฐต้องจัดให้มีกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ปัจจุบันสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงชายและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวควบคู่กัน ในขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาของผู้หญิงมีความสลับซับซ้อนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม จึงจำเป็นที่รัฐต้องตั้งกลไกระดับชาติเพื่อดูแลงานด้านผู้หญิงโดยเฉพาะ อย่างจริงจัง เพื่อดำเนินงานส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนาม จึงขอให้บัญญัติมาตราใหม่ มาตรา….เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน ให้รัฐจัดให้มีกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย บูรณาการการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายแผนพัฒนาสตรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนาม
แนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เป็นเครือข่ายผู้หญิงชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน มีวิสัยทัศน์และภารกิจ
- เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องจากความเสมอภาค ความยุติธรรม และสันติภาพ o ติดตาม ตรวจสอบ นโยบายกฎหมายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง
- ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเรื่องผู้หญิง ต่อสาธารณชนและภาคประชาสังคม เรื่อง ความเสมอภาคและสันติภาพ สมาชิกของแนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ
…………………….
1.สหภาพแรงงาน แอล ที ยู
2.ศูนย์เพื่อน้องหญิง อ.พาน จ.เชียงราย
3.มูลนิธิความร่วมมือเพื่อต้านการค้าหญิง
4.กลุ่มรวมใจแม่ค้า จ.ร้อยเอ็ด
5.เครือข่ายออมทรัพย์สตรีสัมพันธ์ จ.ร้อยเอ็ด
6.ศูนย์เพื่อนหญิงอำนาจเจริญ 7.กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หนองแคน จ.ร้อยเอ็ด
8.กลุ่มพัฒนาสตรีชุมชน 5 ธันวา
9.มูลนิธิพัฒนาอีสาน 10.กลุ่มผู้หญิงสมัชชาคนจน
11.กลุ่มอนุรักษ์ป่าไก่คำ จ.อำนาจเจริญ
12.กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโนนรัง
13.กลุ่มผู้หญิงนครนายก
14.เครือข่ายสตรีล้านนา
15.มูลนิธิผู้หญิง
16.มูลนิธิเพื่อนหญิง
17.โครงการวิจัยเพื่อสตรี
18..คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสตรี
20.ชมรมศิษย์เก่าบูรณชนบทและเพื่อน
21. .ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ
22.กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
23.เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านแรงงาน
24.กลุ่มพัฒนาสตรีชุมชน ฟ้าใหม่ จ.เชียงใหม่
25.โครงการเพื่อสิทธิเยาวชน เชียงใหม่
26.กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จ.อำนาจเจริญ
27.เครือข่ายผู้หญิงไทยพุทธ-มุสลิม จ.สุราษฎร์ธานี
28.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน
29.โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (focus )
30.โครงการพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ลำน้ำพอง
31.กลุ่มดอกฝ้าย จ.ร้อยเอ็ด
32.ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
33.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน
34.กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนียน ชุมชนหมอกจน จ.สุรินทร์
35.สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
36.กลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเขตปฏิรูปที่ดินวังเหนือจำกัด
37.เครือข่ายผู้หญิงอีสาน 38.เครือข่ายผู้หญิงอีสานใต้ จ.บุรีรัมย์
39.เครือข่ายผู้หญิงอีสานใต้ จ.นครราชสีมา
40. สตรีสานสัมพันธ์สู่สันติสุข ที่ติดต่อ กองเลขานุการแนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ตู้ ป.ณ. 47 บางกอกน้อย กรุงเทพ ฯ 10700 โทร 02-4335149 , 02-4351246 โทรสาร 02-4346774 2