ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน รางวัลแด่ผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อสังคม เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม พ.ศ.2550
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง และองค์กรพันธมิตร ได้มอบรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” ให้แก่ นางร้อย สีหาพงษ์, นางแยนะ สะแลแม และนางสาวฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ซึ่งทั้งสามคนถือว่าเป็นผู้มีบทบาทและผลงานดีเด่นในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่น เสียสละเพื่อการงานที่มีคุณค่า ต่อสังคม แม้จะต้องประสบกับความยากลำบาก หรือเสี่ยงอันตราย นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ซึ่งแต่ละคนได้สร้างสรรค์งานที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม พอสรุปได้ดังนี้
นางร้อย สีหาพงษ์ – หรือ ป้าร้อย ที่ชาวชุมชนริมทางรถไฟท่าเรือคลองเตยคุ้นเคยกันดี เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2477 มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายข้าวแกงหาเลี้ยงครอบครัวที่อาศัยในที่ดินรกร้างใกล้ท่าเรือคลองเตยมานานเกือบ 20 ปี จนกระทั่งในปี 2527 มีการไล่รื้อโดยผู้อ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้มีการต่อสัญญาเช่ากับการท่าเรือมานานแล้ว ป้าร้อยและชาวบ้านจึงร่วมใจกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความเป็นความถูกต้อง ด้วยความใฝ่รู้และรักที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะมีการประชุมหรือสัมมนาที่ไหน ป้าร้อยจะเข้าร่วมด้วยเสมอ
นอกจากนั้นแล้วป้ายังได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน และเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานในต่างประเทศ ซึ่งป้าก็ได้นำประสบการณ์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาชุมชนริมทางรถไฟ ปัจจุบันป้าร้อยเป็นประธานสหกรณ์เคหะสถาน ศูนย์รวมพัฒนาชุมชนจำกัด ที่มีโครงการหาที่อยู่อาศัยถาวรให้แก่สมาชิกชุมชน เพื่อวันข้างหน้าป้าร้อยและพี่น้องในชุมชนจะได้มีบ้านเป็นของตัวเอง หลังจากที่อยู่อย่างไร้สิทธิ์มาเกือบ 40 ปี
แยนะ สะแลแม หรือ กะน๊ะ เกิดวันที่ 20 สิงหาคม 2501 มีอาชีพทำนาและเย็บผ้า จากเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของพี่น้องชาวใต้ และเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของกะน๊ะ เพระเชื่อมั่นว่าพระเจ้าอยู่กับคนที่รักความยุติธรรมเสมอ ได้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานช่วยเหลือชาวตากใบจำนวน 58 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธฯและถูกทางการดำเนินคดีในเวลาต่อมา ในจำนวน 58 คนมีลูกชาย ญาติ และเพื่อนบ้านของกะน๊ะถึง 17 คน
นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอต้องลุกขึ้นช่วยเหลือผู้ถูกฟ้องร้อง ในฐานะแม่ ญาติ และเพื่อนบ้านผู้ร่วมทุกข์ งานของเธอคือรับเป็นผู้ประสานงานระหว่างทนายและผู้ต้องคดีตากใบ โดยทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นล่ามเพื่อช่วยสื่อสารระหว่างทนายและผู้ต้องหา พาทนายความไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต แจ้งให้ญาติหาหลักทรัพย์มาประกันตัวรายละ 250,000 บาท แต่เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน กะน๊ะจึงช่วยหยิบยืมโฉนดที่ดินจากญาติๆของเธอเพื่อประกันผู้ไม่มีหรือมีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ นอกเหนือจากช่วยคดี 58 คนแล้ว กะน๊ะยังช่วยคดีการไต่สวนการเสียชีวิตของชาวบ้านในเหตุการณ์ รวมถึงการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐ
ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เกิดวันที่ 2 มีนาคม 2515 เป็นนักอ่านมาตั้งแต่เยาว์วัย มีประสบการณ์เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารสำหรับวัยรุ่น จนกระทั่งมีโอกาสรู้จักและเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอัญจารี ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิของหญิงรักหญิงในเมืองไทย และได้รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลุ่มอัญารี
ระหว่างนั้นได้ร่วมทำงานกับองค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิของกลุ่มรักเพศเดียวกัน เพื่อเสนอให้กรมสุขภาพจิตออกหนังสือรับรองว่าการรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นโรคจิต เพื่อให้เป็นไปตามประกาศขององค์การอนามัยโลก จนกระทั่งกรมสุขภาพจิตได้ออกหนังสือรับรองทางวิชาการในวันที่ 29 มกราคม 2545 ความยากลำบากในการทำงานมาจากอคติของสังคมที่มีต่อคนรักเพศเดียวกันที่เป็นเสมือนกำแพงใหญ่ที่กั้นเราเอาไว้ ซึ่งอคติเหล่านั้นเกิดจากการปลูกฝังมานาน ไม่ใช่แค่สังคมไทยเท่านั้น จึงทำให้การทำงานในประเด็นนี้ยากลำบากกว่าประเด็นอื่นๆ
ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อสนับสนุนและปกป้องสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อันเป็นงานที่ท้าทายต่อค่านิยมและทัศนคติ ความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้จะยากลำบากแต่เธอยังคงยืนยันที่จะทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมต่อไป