เสียงผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ผู้หญิงและกลุ่มคนทำงานช่วยเหลือผู้หญิงได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลุ่มองค์กรผู้หญิงซึ่งประกอบด้วย แนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ,มูลนิธิผู้หญิง, โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา,หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดการอภิปรายเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่มทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างวาดหวังว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้จริง มิใช่ออกมาสวยงามแต่ใช้การไม่ได้
ผุสดี ตามไท – จากขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง
ยืนกรานให้ตัดทิ้งวรรค 2 มาตรา 51 ที่ระบุว่า การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิของเด็กและเยาวชน และบุคคลในครอบครัวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัว หรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น และให้เพิ่มข้อความใหม่แทนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในการเยียวยาและบำบัดฟื้นฟู การดำรงชีวิตและสวัสดิการอื่นๆ เหตุผลเพราะหากใช้ข้อความเดิมผู้หญิงที่ถูกทุบตีคงตายก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือ ในขณะที่ข้อความใหม่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ บำบัดเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งของผู้ที่กระทำความรุนแรงและผู้ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว
นอกจากนั้นแล้วยังเรียกร้องถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่ม “ความรุนแรงทางเพศ” ในมาตรา 40 ดังนี้ เด็กเยาวชน สตรี คนพิการ และทุพพลภาพย่อมได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เหตุผลเพราะคดีความรุนแรงทางเพศมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลกรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น จัดให้มีพนักงานสวบสวนหญิง ใช้การบันทึกเทปผู้เสียหายแทนการเผชิญหน้า เป็นต้น
ศิริพร สะโครบาเนค จากมูลนิธิผู้หญิง
ในฐานะที่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศอื่นๆ มองว่า แม้รัฐธรรมนูญของไทยในมาตรา 30 จะระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” แต่ในทางปฏิบัติกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง และชนกลุ่มน้อยยังไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับเราซึ่งเป็นคนพื้นราบ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่ม “กลุ่มชาติพันธุ์” เข้าไปด้วยเพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีสิทธิและได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม และเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องจัดให้มีองค์กรอิสระเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อเป็นหลักประกันในการให้ความคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสิทธิของทั้งชายและหญิงในทางปฏิบัติที่เป็นจริง
อรุณี ศรีโต จากกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
ผู้เคยผ่านประสบการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เขียนออกมาดีแต่นำไปใช้จริงไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สวยแต่รูปอย่างเดียว จึงต้องมีมาตรการแก้ไขหรือออกกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย มาตรา 44 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน/
มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น การบรรญัติกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มีแนวทางในการปฏิบัติ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็ปิดช่องโหว่ของกฎหมายป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เช่น นายจ้างอาศัยกฎหมายกดดันหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ทำให้สหภาพแรงงานไทยไม่เข้ม
สุธีรา วิจิตรานนท์ จากสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ฯ
เห็นว่าในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมยังไม่พอ จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าหญิงและชายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ถ้ามิเช่นนั้นแล้วผู้หญิงซึ่งเป็นประชากรครึ่งหนึ่งก็จะถูกลืม
ผู้แทนจากสมาคมอาชีพคนตาบอดแห่งประเทศไทย//ปิดหนา กล่าวว่าเนื่องจากผู้พิการมีหลายระดับของความพิการ ซึ่งต่างล้วนมีความต้องการบริการและสวัสดิการของรัฐ เพื่อให้สามารถดำรงชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวเฉกเช่นบุคคลทั่วไป จึงจำเป็นต้องระบุให้มี “คนพิการ” ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้พิการจะมีสิทธิในการได้รับการบริการของรัฐอย่างทั่วถึง
ข้างต้นนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนของผู้เข้าร่วมอภิปรายบางส่วน รายละเอียดของข้อเสนอแนะ(โปรดดูท้ายนี้) ซึ่งเป็นผลสรุปจากการประชุม แนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ และขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง ได้ส่งมอบให้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแปรญัตติ แล้ว ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร คงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อเสนอเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับรับฟังความคิดเห็น)
ส่วนที่ ๒ ความเสมอภาค
มาตรา ๓๐ เสนอให้เพิ่มคำว่า “ ชาติพันธุ์ ” และให้เพิ่มนิยามของคำว่า “ เสมอภาค ” ดังนี้
มาตรา ๓๐ บุคคลย่อม เสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน เสมอภาคกันอันรวมถึงการได้รับสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียม การส่งเสริมสิทธิเสมอภาคในกฎหมาย และมาตรการที่คุ้มครอง หรือ สร้างความก้าวหน้าให้กับบุคคล หรือกลุ่มคนที่เสียประโยชน์หรือด้อยโอกาสจากการเลือกปฏิบัติ ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ อายุ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม ส่วนที่ ๙ สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ
มาตรา ๕๑ เสนอให้ตัด วรรคสอง และให้บัญญัติเพิ่มเติม ข้อความ ดังนี้ มาตรา ๕๑ เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิในการอยู่รอด และได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในการเยียวยาและบำบัดฟื้นฟู การดำรงชีวิตและสวัสดิการอื่น ๆ เด็กและเยาวชน ซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดู และการศึกษาอบรมจากรัฐ
มาตรา ๕๓ ให้ตัดคำว่า “ หรือทุพพลภาพ ” และเปลี่ยนคำว่า “ ได้รับ ” เป็นคำว่า “ เข้าถึง ” ( ๕๓) บุคคลซึ่งพิการ หรือทุพพลภาพ มีสิทธิ ได้รับ เข้าถึง สวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ มาตรา ๕๐ ให้เพิ่มคำว่า “ ผู้พิการ ”
มาตรา๕๐ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและ ผู้พิการ ผู้ยากไร้มีสิทธิมีสิทธิได้รับการพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนที่ ๓ แนวนโยบายด้านการบริหาราชการแผ่นดิน มาตรา ๗๗ ให้บัญญัติข้อความใหม่ทั้งวงเล็บโดย แทรกเป็น ( ๘ ) ส่วน (๘) (๙) ตามฉบับร่างเสนอให้เลื่อนลำดับเป็น (๙ ) (๑๐) ( ๘ ) ให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนองค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งในครอบครัวและในพื้นที่สาธารณะ ส่วนที่ ๔ แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม
มาตรา ๗๙ (๑) เสนอให้บัญญัติ ให้มีการจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิง ชาย และเสนอให้ตัดคำว่า “ ผู้ทุพพลภาพ ” ดังนี้ มาตรา ๗๙ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม ดังนี้ (๑) คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย โดยจัดให้มีกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือผู้ทุพพลภาพ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ………………. ส่วนที่ ๕ แนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม มาตรา ๘๐ (๒) ให้บัญญัติเพิ่มเติม คำว่า “ ความรุนแรง ”
มาตรา ๘๐ (๒) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลให้พ้นจาก ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และโดยบุคคลอื่น และต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคน อย่างเท่าเทียม ส่วนที่ ๑๔ การปกครองท้องถิ่น
มาตรา ๒๗๕ เสนอเพิ่มเติม วรรค ๒ และ วรรค ๓ ( เพิ่มเติม ) สมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีสัดส่วนหญิงชายใกล้เคียงกัน คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น โดยคณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนหญิงชายใกล้เคียงกัน ส่วนที่ ๗ การตราพระราชบัญญัติ (หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ )
มาตรา ๑๔๘ เสนอให้ตัดคำว่า “ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก สตรี และคนชรา หรือผู้พิการและผู้ทุพพลภาพ ” ในวรรคแรก และเพิ่มเติมข้อความ ดังนี้ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ หากสภาผู้แทนราษฎรมิได้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นประกอบด้วยบุคคลภายนอกผู้มีความรู้และประสบการณ์ ทั้งหญิงและชายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วนที่ ๖ แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
มาตรา ๘๖ แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งหญิงและชาย ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ดังต่อไปนี้ ส่วนที่ ๔ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ให้เพิ่มเติมเติมข้อความ ดังนี้
มาตรา ๔๐ (๖) เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ และ ทุพพลภาพย่อมได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
ข้อเสนอแนะอื่นๆ
• ให้มีการบัญญัติกฎหมายลูกภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น มาตรา๔๔ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงาน….
• ให้ตัดมาตรา ๖๘ ทั้งมาตรา
• ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทางเลือกที่๑ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทางเลือกที่ ๒ หากต้องมาจากการสรรหา ควรต้องให้มีกรรมการสรรหา ดังนี้ – ม. ๑๐๗
วรรคหนึ่ง คณะกรรมการสรรหาระดับชาติ โดยเพิ่มผู้แทนองค์กรเอกชนด้าน สตรี เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จำนวน ๔ คน – ม. ๑๐๗
วรรคสอง ให้มีคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด จังหวัดละ ๑๑ คน ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ๔ คน ภาคเอกชน ๓ คน และภาคประชาชน๔ คน โดยให้มีสัดส่วนหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ควรให้ยกเลิกอำนาจการถอดถอน เหลือเพียงการกลั่นกรองกฎหมาย และให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ