Unlimited Web HostingFree Wordpress ThemesDeposit Poker

มิติความสัมพันธ์หญิงชายกับการจัดการและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ

 

sunami5

นับจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบสามปี ที่มูลนิธิผู้หญิง ซึ่งได้ดำเนินโครงการสานชีวิตหญิงและเด็กอันดามัน เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู เสริมสร้างพลังให้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้โดยปกติ ฯลฯ จึงได้จัดทำรายงาน เรื่อง ชนชั้น ชายขอบ เพศสภาพ และภัยพิบัติ กรณีสึนามิกับผลกระทบต่อผู้หญิงขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลจากการทำงานของมูลนิธิผู้หญิง และได้นำเสนอรายงานนี้ในงานสัมมนาเรื่องมิติหญิงชายกับการจัดการแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ ในวันที่ 26 มิถุนายน ณ ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วรัญญา เกื้อนุ่น –  รักษาการผู้ประสานงานโครงการสานชีวิตหญิงและเด็กอันดามัน ได้นำเสนอรายงานว่า

หลังจากเหตุการณ์สึนามิยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และแยกเพศอย่างเป็นระบบ จะมีก็เพียงการเก็บข้อมูลในระดับชุมชนเท่านั้น อย่างไรก็ตามได้เกิดการร่วมแรงร่วมใจให้ความช่วยเหลือที่หลากหลาย แต่การให้ช่วยเหลือนั้นยังไร้มิติหญิงชาย และขาดการคำนึงถึงคนชายขอบอยู่ด้วย เช่น การให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ถุงยังชีพที่มอบให้กับผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินยังขาดสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงและเด็ก เช่น ผ้าอนามัย ชุดชั้นใน เสื้อผ้าสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เสื้อผ้าเด็ก นมผง ในส่วนของการเรียกร้องค่าชดเชย 

พบปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องการเอกสารหลักฐาน เช่น ใบทะเบียนสมรส จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงค่าชดเชยได้ยาก และผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งหลักศาสนาอนุญาตให้มีภรรยาได้หลายคน พบว่าผู้หญิงที่มีทะเบียนสมรสเท่านั้นที่จะได้รับค่าชดเชย ทั้งที่ภรรยาแต่ละคนต่างก็มีภาระในการเลี้ยงดูลูก 

ในส่วนของการชดเชยเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ค่าชดเชยกระชังเลี้ยงปลาก็ต้องเป็นกระชังที่ได้ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐเท่านั้นจึงจะได้รับการชดเชย การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการชดเชยต่างๆ ยังไม่ทั่วถึง คนที่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากก็สามารถเข้าถึง ส่วนผู้หญิงที่เลี้ยงลูกตามลำพังจะมีโอกาสรับรู้ข้อมูลและเข้าถึงการช่วยเหลือน้อยกว่าคนอื่น 

นอกจากนี้การให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น บ้านพักที่จัดหาให้ รวมถึงสภาพแวดล้อมนั้นยังไม่เหมาะสม เช่น ขาดแหล่งน้ำที่สะอาด รูปแบบของบ้านที่จัดให้นั้นเหมาะสมกับครอบครัวเดี่ยวในขณะที่ความสัมพันธ์ของครอบครัวของชาวบ้านจะอยู่กันแบบครอบครัวขยาย จึงทำให้สมาชิกบางส่วนต้องหาช่องทางไปพักที่อื่น และเงื่อนไขของผู้ที่จะได้บ้านพักนั้น คือ บ้านของตนเองต้องเสียหายจากสึนามิ และต้องมีภูมิลำเนาในที่เกิดเหตุ ทำให้คนเช่าบ้านอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุไม่ได้รับความช่วยเหลือ 

ในส่วนของทุนการศึกษา รัฐจะให้เฉพาะเด็กที่กำลังเรียนอยู่เท่านั้น เด็กๆ ที่ยังไม่เข้าเรียนจะไม่มีสิทธิ์ได้รับทุน จากการทำงานที่ผ่านมามีประเด็นท้าทายให้หลายๆหน่วยงานได้ทบทวนการทำงานสร้างชีวิตใหม่ เช่น การช่วยเหลือที่เน้นการทำงานแบบรวมกลุ่ม ต้องทบทวนเนื่องจากแกนนำที่สามารถรวมกลุ่มนั้นกลายเป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการทุนขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้หญิงชายขอบที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวไม่สามารถจัดสรรเวลาได้เนื่องจากต้องหาเช้ากินค่ำ การสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวยังคงยึดรูปแบบที่ตายตัวที่ผู้หญิงควรกระทำ เช่น การเย็บผ้าบาติค และการที่ผู้นำชุมชนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขก็พบว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อไม่มีโอกาสเข้าถึงกองทุนนี้ เพราะผู้นำเห็นว่าไม่มีความสามารถที่จะส่งเงินคืนได้ ฯลฯ 

สุดท้ายได้มีข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะต้องให้ความสำคัญต่อความแตกต่างและบทบาทหญิงชาย โดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง ให้ความช่วยเหลือแก่หญิงที่สูญเสียสามีและมีภาระเลี้ยงดูลูกโดยลำพัง เช่น

  • จัดสรรเงินช่วยเหลือรายเดือนแก่เด็กในครอบครัว 
  • ให้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องแก่เด็กกำพร้าในครอบครัวเหล่านี้ รวมถึงจัดสรรเงินทุนประกอบอาชีพและส่งเสริมศักยภาพให้สามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจและดูแลครอบครัวของตนต่อไปได้ในระยะยาว 
  • จัดให้มีบริการเยียวยาเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิง และสมาชิกในครอบครัวที่ต่อเนื่องและเพียงพอ 
  • จัดบริการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ประสบภัยที่ถูกคลื่นจนน้ำทะเลเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มหญิงที่ตั้งครรภ์ รวมทั้งติดตามแม่และลูกที่เกิดหลังสึนามิเพื่อดูผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว
  • ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนกำหนดและตัดสินใจในการฟื้นฟูชีวิตของตนเองและชุมชน 
  • ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องที่อยู่อาศัยใหม่ หรือกำหนดทิศทางการฟื้นฟูชุมชนของตนเอง 
  • ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของหญิงและเด็กผู้หญิงตามที่พักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่ต่างๆ ที่จัดให้กับผู้ที่ประสบภัยพิบัติ เป็นต้น 

sunami2

จิตติมา อุ่นเรือน –  หญิงประสบภัยคนหนึ่งจากพังงา กล่าวว่า หลังเหตุการณ์สึนามิผู้หญิงที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวยังมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอที่จะเรียกร้องการชดเชย พวกเธอใช้เวลานานกว่าจะหายจากอาการเศร้าเสียใจหลังจากนั้นเมื่อมาทวงค่าชดเชยกับองค์การบริหารส่วนตำบลและหมู่บ้าน เขาก็เฉยเมย จึงสมควรแล้วที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ในสิทธิของผู้หญิง ทั้งนี้ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีให้กับลูกของผู้หญิงม่ายและผู้หญิงที่ไร้ความสามารถซึ่งเลี้ยงลูกตามลำพัง ด้านบริการด้านสุขภาพควรมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และต้องการให้ตรวจสอบการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐในกรณีปัญหาที่ดิน 

…………………..

กนกพร หลงหล้า-  หญิงประสบภัยอีกคน เล่าว่าเธอทำงานที่บางเนียง ขณะถูกคลื่นซัดเธอกำลังตั้งครรภ์ได้ ๗ เดือน จึงไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ เพราะลำบากในการเดินทางไปติดต่อ ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือสิ่งใดในหมู่บ้านด้วยเหตุที่ว่าไม่ได้ประสบภัยในหมู่บ้าน จึงต้องการให้มีเจ้าหน้าที่ลงทำงานในพื้นที่ เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีภาระไม่สามารถเดินทางไปที่ไกลๆ ได้ ที่ผ่านมาคนที่ได้รับความช่วยเหลือมักเป็นคนที่มีเวลาว่างและไม่มีภาระ การที่มีหน่วยงานลงมาทำงานในพื้นที่แม้จะใช้เวลานานแต่ก็จะทำให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง 

…………………..

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช- ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ชี้ว่าการที่เกิดความสูญเสียมากมายจากภัยสึนามิ เป็นเพราะคนประมาทกับภัยธรรมชาติ คนไม่เรียนรู้เพราะรัฐไม่เคยให้องค์ความรู้กับประชาชน ปัจจุบันการสร้างบ้านเป็นการสร้างที่ผิดเพราะสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัย หากสึนามิมา ชาวบ้านจะเสียชีวิตอีก และควรสร้างบ้านในพื้นที่ชุมชนจะทำมาหากินได้และมีความปลอดภัย สึนามิที่จะมาในอนาคตจะรุนแรงขึ้น 

ดังนั้นจึงต้องให้องค์ความรู้และวิธีป้องกันชีวิตและทรัพย์สินด้วย การทำระบบเตือนภัยเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเตือนภัยล่วงหน้าได้ จะทำให้รู้ว่าแต่ละหมู่บ้านจะอพยพไปทางใด ที่ผ่านมามีการซ้อมระบบเตือนภัยที่จังหวัดภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ เนื่องจากเราไม่เคยซ้อมการเตือนภัย เมื่อต้องการซ้อม ทางจังหวัดจะคัดค้านเพราะเกรงว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยว 

จะเห็นได้ว่าในประเทศที่มีภัยพิบัติอยู่เรื่อยๆ เช่น ญี่ปุ่นซึ่งมีแผ่นดินไหว สึนามิหลายครั้ง แต่คนยังหลั่งไหลไปเที่ยวที่นั่นเพราะมีระบบเตือนภัยที่ดี สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสอนให้รู้ถึงภัยพิบัติตามธรรมชาติ เหมือน ชาวมอแกนได้สอนลูกหลานไว้ จึงควรมีการสอนให้รู้ถึงภัยธรรมชาติในพื้นที่ของตน 

ทั้งนี้ ดร.สมิทธให้ข้อเสนอแนะว่าควรส่งรายงานการศึกษาผลกระทบภัยสึนามิต่อผู้หญิงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อนำไปสู่การวางแผนดำเนินการจัดการภัยพิบัติต่อไป 

…………………………

ศิริพร สโครบาเนค – ประธานกรรมการมูลนิธิผู้หญิง เน้นย้ำว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิจนถึงปัจจุบัน มีความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงมิติเรื่องชนชั้นและคนชายขอบด้วย เช่น ในพื้นที่ยังขาดระบบเตือนภัยที่ดี เช่นในขณะที่มีการซ้อมเตือนภัย ก็ไปไม่ถึงผู้หญิงที่ทำงานชายหาด คนยากจนที่ห่างไกลจากศูนย์กลางก็ยังคงเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยอยู่ การทำงานให้ความช่วยเหลือมีความจำเป็น และน่าห่วงใยที่ยังเห็นการฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้ประสบภัยค่อนข้างมาก ทำอย่างไรจึงจะช้อนกรองให้ผู้ประสบปัญหาได้เข้าถึงมาตรการหรือระเบียบซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงคนเหล่านั้นได้ 

เช่น ผู้สูญเสียสามีไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะขาดหลักฐานบางประการ ที่ผ่านมามูลนิธิผู้หญิงจึงได้ช้อนกรองคนเหล่านี้ โดยการตอบสนองความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานในภาวะฉุกเฉิน เป็นแบบเฉพาะรายและแบบกลุ่มโดยผู้ประสบปัญหาด้วยกันเอง เมื่อผ่านพ้นไปแล้วก็มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ 

ดังนั้นจึงอบรมผู้หญิง ทำให้การช่วยเหลือสามารถเข้าถึงคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือในกระแสหลักได้ ในส่วนของประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีคนตั้งคำถามว่าไม่เกี่ยวกัน แต่มูลนิธิผู้หญิงเห็นว่าความเครียดหลังเหตุการณ์สึนามินั้นก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ คนในชุมชนในพื้นที่ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่น เด็กกำพร้ามีมากขึ้นและไปอยู่ที่โรงเรียนราชประชาฯ คนดูแลไม่สามารถทำงานได้ทั่วถึง เด็กมีความสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ทำให้เด็กออกจากโรงเรียน ส่งผลระยะยาวต่อเด็ก 

เพราะฉะนั้นการทำงานแบบองค์รวมจำเป็นที่ต้องช่วยให้ชุมชนตระหนักและหาวิธีแก้ไขตามวิถีทางของเขา อย่างไรก็ดี การทำงานสึนามิเป็นบทเรียนที่ดีที่มีการปรับเปลี่ยน เช่น คนมอแกนที่เคยถูกดูถูกและไม่ต้องการถูกเรียกว่าชาวน้ำ หลังสึนามิก็มีความเข้าใจมากขึ้น เมื่อคนมอแกนพบคนต่างถิ่นก็สามารถพูดคุยกันได้ ไม่ต้องวิ่งหนีเหมือนแต่ก่อน และอีกประเด็นคือเอดส์ ที่ไม่เคยมีคนสนใจ แต่ก็ทำให้คนกลุ่มนี้มีพื้นที่ออกมาหาความช่วยเหลือด้วย  

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Thai / English

บทความล่าสุด
ปฎิทินกิจกรรม
May 2023
M T W T F S S
« Sep    
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031