งานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๕
มูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ แอ๊คชันเอดส์ และองค์กรเครือข่าย จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงในภาคใต้และความรุนแรงต่อผู้หญิง ณ สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพมหานคร เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ และยังเป็นโอกาสระลึกถึงพี่สาว น้องสาวของเราที่กำลังเผชิญความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน โดยเฉพาะพี่น้องผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำรงชีวิตภายใต้ความหวาดกลัวจากความขัดแย้งทางอาวุธและได้สูญเสียผู้เป็นที่รักในครอบครัว ต้องประสบความยากลำบากในการดำรงอยู่ รวมทั้งตระหนักร่วมกันถึงผู้หญิงที่ได้ต่อสู้และสูญเสียชีวิตจากการพิทักษ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ของตนและผู้อื่นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ว่าจะเกิดในพื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะกระทำโดยสมาชิกในครอบครัว บุคคลในสังคม เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ต่างลัทธิความเชื่อ ล้วนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของชีวิต และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาของผู้หญิง และการสร้างสังคมที่สันติสุข รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในการดำรงชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
เครือข่ายผู้หญิงฯ จะร่วมกับองค์กรสมาชิกในการผลักดันเพื่อให้รัฐภาคีในอาเซียน ให้ความสำคัญต่อการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันมีปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่กำหนดให้รัฐสมาชิกส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของหญิงและเด็กในทุกด้านเพื่อให้สามารถปกป้องตนเองได้จากความรุนแรง และการเป็นเหยื่อซ้ำ อีกทั้งให้สนับสนุนการทำงานขององค์กรผู้หญิง องค์กรชุมชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง และจัดตั้งและ/หรือสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายรวมถึงความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันกับองค์กรเหล่านี้ และกับภาครัฐและเอกชน โดยจะติดตามผลักดันต่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อไปเพื่อให้ อาเซียนเป็นประชาคมที่ปลอดจากความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิง
เพื่อสานชีวิตที่สันติของผู้หญิง เครือข่ายร่วมจัดงานได้จัดทำคำประกาศขอเรียกร้องให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ ดังต่อไปนี้
๑. จัดมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมบนหลักการของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติและยุติธรรมแก่ผู้หญิงทุกคนและทุกที่ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งในครอบครัวและพื้นที่สาธารณะ และจากความขัดแย้ง
๒. ดำเนินนโยบายและมาตรการพิเศษเพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทและส่วนร่วมในกระบวนการยุติความรุนแรงและสานสันติในชายแดนภาคใต้
๓. รณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนและสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการตระหนักร่วมกันว่าความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสังคมไทยจะไม่ยอมอดกลั้นกับความรุนแรงต่อผู้หญิงอีกต่อไป