เสียงผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างคร่ำเคร่ง เพื่อให้ทันเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยู่ในขณะนี้ พลเมืองผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองย่อมต้องให้ความสนใจติดตามความเป็นไปต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และผู้หญิงในฐานะประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศก็ได้จับจ้องมองดูความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่อย่างมิให้คลาดสายตา ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยการสนับสนุนขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้ร่วมกันจัดเวที เสียงผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเชิญเครือข่ายสตรีจาก 5ภูมิภาค (ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มสตรีจากจังหวัดชายแดนใต้) ร่วมกันพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตรา เมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ผลจากการประชุมตลอดสองวัน พอจะสรุปได้ว่า ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และเครือข่ายสตรีทั้งห้าภูมิภาค มีความห่วงไยต่อประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2 กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ กลุ่มแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศโดยตรง ส่วนกลุ่มที่สองเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง สิทธิการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค
กลุ่มแรกซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศนั้น ขบวนผู้หญิงฯต้องการให้ระบุในมาตรา 34 ว่า ชาย หญิง และบุคคลทุกเพศสภาพ มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ในมาตรา 44 ที่เกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสนอให้ระบุใน (2) เพิ่มเติมว่า “และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ตลอดจนป้องกันแก้ไขเยียวยาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต้องให้ผู้กระทำผิดหรือจำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง” ในส่วนของสิทธิพลเมือง มาตรา 46 ให้ระบุว่า ครอบครัวทุกรูปแบบ ในมาตรา 62 ที่เกี่ยวกับสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการตรากฎหมายและการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้เพิ่มหนึ่งวรรคที่ระบุว่า “การมีส่วนร่วมของพลเมืองตามมาตรานี้ต้องมีสัดส่วนของหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน” เช่นเดียวกับในมาตรา 65 ซึ่งเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็จะต้องกระทำ โดยการมีส่วนร่วมของพลเมืองต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่นกัน
เครือข่ายผู้หญิงยังยืนยันให้ระบุระบบสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกัน ในมาตราที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ มาตรา 76 ที่ระบุสัดส่วนเพศใดเพศหนึ่งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศหญิงและชายสลับกันทั้งบัญชี และมาตราที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณากำหนดให้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการ องค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในหมวดการปฏิรูปทั้งหมด รวมถึง สิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น สมัชชาพลเมืองซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายจากพลเมืองในท้องถิ่น… ในมาตรา 207, 225, 229, 259, 270, 271, 279 (วรรคสุดท้าย), 284 (6) ,285 (2) , 295 (5) ,291 (5) และ ในมาตรา 89 ให้คงไว้ซึ่งงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณตอบสนองต่อปัญหาผู้หญิงในทุกด้าน
กลุ่มที่สองซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง สิทธิการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายผู้หญิง คำนึงถึงสัดส่วนการใช้สื่อเพื่อภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ (มาตรา 50) ส่วนในเรื่องการศึกษา พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาจนถึงขั้น อุดมศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมกันนี้รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการการศึกษาอบรมสิทธิมนุษยชน (ม.52) ในส่วนของสิทธิการจ้าง รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ต้องคำนึงถึงเพศสภาพ (ม.57) เป็นต้น
ความพยายามที่จะจับจ้องและติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กฎหมายสูงสุดของประเทศคำนึงถึงมิติด้านเพศสภาพมากขึ้นนั้น จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงจะนำพาสังคมไปสู่ความสงบสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต