สรุปการศึกษาเปรียบเทียบ กรณีหญิงถูกดำเนินคดีฆ่าสามี และ ข้อเสนอแนะด้านกระบวนการยุติธรรม
จากประสบการณ์ของมูลนิธิผู้หญิงในการให้ความช่วยเหลือแก่หญิงที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเจตนาฆ่าสืบเนื่องจากความรุนแรงในครอบครัว พบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงต้องถูกพิพากษาลงโทษจำคุก ๗-๘ ปี ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสัมภาษณ์พบว่าหญิงเหล่านี้มีประวัติเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวมาเป็นเวลานาน จนเกิดอาการที่เป็นผลกระทบสั่งสมจากการถูกกระทำความรุนแรงจากสามีหรือคนรัก และต้องดำเนินชีวิตด้วยความหวาดกลัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนทำให้สามีเสียชีวิตเมื่อผู้หญิงสู้กลับเพื่อตอบโต้กับความรุนแรง หรือเพื่อป้องกันมิให้สามีมาทำร้ายตน แต่มิได้มีเจตนาทำให้สามีเสียชีวิต และบางรายที่เกิดจากบันดาลโทสะสั่งสม และทำร้ายสามีจนเสียชีวิต
มูลนิธิฯ ได้คัดเลือกกรณีหญิงที่ต้องคดีจำนวน ๓ ราย เป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องและในชั้นศาล โดยเป็นกรณีที่เกิดหลังจากการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พบว่า กระบวนการยุติธรรมยังขาดแนวทางที่ละเอียดอ่อนต่อการพิจารณาคดีเหล่านี้ ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ ใช้แนวทางให้ผู้กระทำกลับตัวและสามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว หญิงซึ่งตกเป็นจำเลยเหล่านี้จากในอดีตเข้าไม่ถึงความคุ้มครองจากกฎหมายดังกล่าวเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรง แต่เมื่อต้องคดีจากการทำให้สามีเสียชีวิต กลับต้องโทษจำคุก และส่งผลให้เด็กๆ ในครอบครัวนอกจากการสูญเสียพ่อแล้ว ยังต้องพลัดพรากจากแม่ของตน
รายงานฉบับนี้เสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรม และเพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้เกี่ยวข้องตลอดจนบุคคลากรต่อกรณีหญิงต้องคดีสืบเนื่องจากความรุนแรงในครอบครัว
กรณีศึกษา “เอ” เออายุ ๓๖ ปี สามีอายุ ๔๘ ปี มีอาชีพทำนาและรับจ้าง ใช้ชีวิตร่วมกันมา ๑๖ ปี มีลูกด้วยกัน ๔ คน กำลังอยู่ในวัยเรียนทุกคน เอถูกสามีทำร้ายร่างกายตั้งแต่ตั้งท้องลูกชายคนโต สามีทำร้ายเอหนักขึ้นและเคยทำร้ายลูกชายคนโตที่เข้ามาช่วยแม่โดยบีบคอจนตาถลน จนเอต้องใช้มีดพร้าฟันที่หน้าแข้งสามีจึงยอมปล่อย เวลาถูกทำร้ายเอต้องพาลูกๆ หนีไปนอนที่กระต๊อบในทุ่งนาเป็นประจำ ทำให้บางครั้งลูกๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะเพื่อนบ้านไม่กล้าให้เอและลูกหลบภัยเนื่องจากสามีเอจะถือมีดไปขู่ เอเคยขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านและเคยแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ช่วยอะไรเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องผัวเมีย เอต้องเผชิญความรุนแรงจากสามีเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี
วันเกิดเหตุ เอเกรงว่าหากสามีออกนอกบ้านในวันนั้นจะไปกินเหล้าฉลองผลเลือกตั้งแล้วเมากลับมาทุบตีเธอเช่นทุกครั้ง จึงเตรียมกาแฟให้สามี ขณะที่สามีนั่งจิบกาแฟ เอใช้สันมีดตีที่บริเวณคอด้านหลังหนึ่งที สามีไม่สลบ ด้วยความกลัวว่าสามีจะทำร้ายกลับ เอจึงตีซ้ำอีกสองที จนสามีล้มลง เอยกสามีให้นอนบนแคร่แล้วห่มผ้าให้ จากนั้นจึงออกไปเลือกตั้ง พอกลับมาสามียังนอนอยู่ท่าเดิม จนกระทั่งลูกเรียกให้ไปดูพ่อ พบว่าเสียชีวิตแล้ว ญาติฝ่ายสามีแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ แต่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นรอยช้ำที่คอจึงส่งศพพิสูจน์ ภายหลังเอรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำ
กรณีศึกษา “บี”
บีอายุ ๔๗ ปี อาชีพทำนา สามีอายุเท่ากัน อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีลูกด้วยกัน ๔ คน เอต้องดูแลแม่อายุ ๗๓ ปีที่ป่วยเป็นวัณโรคและความดัน สามีเริ่มทำร้ายบีตั้งแต่ลูกชายคนแรกอายุได้ ๓ เดือน บีเคยถูกตบจนสลบที่ไปขวางไม่ให้สามีซึ่งกำลังเมานำเสาไม้ที่จะเอาไว้สร้างบ้านใหม่ไปขายเพียงเพื่อเอาเงินไปซื้อเหล้า บีต้องเผชิญความรุนแรงจากสามีเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี
วันเกิดเหตุลูกๆ ไม่อยู่บ้าน สามีเมาเหล้าแล้วหาเรื่องทะเลาะและเดินวนเวียนหาจอบอยู่พักใหญ่จะมาทำร้าย แต่ในที่สุดกลับมานอนบนแคร่ใต้ถุนบ้าน บีเห็นสามีหลับจึงใช้ค้อนทุบหัวแล้วเอาขวานฟันที่หน้าอกจนแน่ใจว่าเสียชีวิตแล้วนำร่างไปซ่อนไว้ในบ่อปฏิกูลหลังบ้าน หลังเกิดเหตุหนึ่งสัปดาห์ ลูกชายคนโตซึ่งสึกจากพระออกมาได้ถามหาพ่อ บีจึงเล่าความจริงและยอมเข้ามอบตัวหลังเกิดเหตุ ๘ วัน
กรณีศึกษา “ซี”
ซีอายุ ๕๐ปี สามีอายุ ๕๔ ปี ทั้งคู่มีอาชีพรับจ้างหล่อพระพุทธรูป มีความสัมพันธ์กันมานาน ๑๔ ปี แต่ไม่ค่อยราบรื่น มีลูกด้วยกัน ๑ คน อยู่ในวัยเรียน มีลูกติดจากสามีเก่าอีก ๒ คน ยามใดที่สามีเมามักจะหาเรื่องทุบตี เคยบีบคอซีจนเลือดออกทางจมูกและปากมาแล้ว ซีเคยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่และมีการบันทึกประจำวันไว้เมื่อปี ๒๕๔๖ ก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งเดือนซียังได้โทรศัพท์แจ้งสถานีตำรวจท้องที่ให้เข้ามาระงับเหตุที่ถูกสามีทำร้าย รวมระยะเวลาที่ซีได้รับความรุนแรงจากสามี ๕ ปี
วันเกิดเหตุเป็นวันก่อนแต่งงานลูกสาวหนึ่งวัน สามีเมาและทำร้ายซีด้วยการบีบคอจากทางด้านหลัง ซีพยายามดิ้นรนเพราะหายใจไม่ออก และได้ใช้มือความหาสิ่งของที่จะป้องกันตัว ซีคว้าได้มีดจึงตวัดไปด้านหลังโดยไม่ได้หันไปมอง มีดแทงเข้าไปที่ท้องด้านซ้ายของสามี จากนั้นซีก็รีบไปบอกพี่สาวและลูกสาวเพื่อให้โทรขอความช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลแต่สามีเสียชีวิตเสียก่อน หลังเหตุการณ์ซีได้เข้ามอบตัว
หัวข้อ | เอ | บี | ซี |
การตั้งข้อหาชั้นพนักงานสอบสอน | ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา | ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ย้ายหรือซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย | ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย |
อัยการส่งฟ้อง | ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ เจตนาฆ่า | ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓, มาตรา ๙๑, ๑๙๙ ย้ายหรือซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย และ มาตรา ๒๘๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ | ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ พระราชบัญญัติ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ และ มาตรา๔ |
ความช่วยเหลือทางคดี | -ทนายความจัดหา ให้รับสารภาพ
-ทนายความจากมูลนิธิฯ ลงพื้นที่เพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงพบว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาฆ่า จึงขอเป็นทนายร่วม -ทนายความจากมูลนิธิฯยื่นคำร้องต่อศาลขอกลับคำให้การเพื่อสู้คดี -มูลนิธิฯ แต่งตั้งทนายความจากมูลนิธิฯ ช่วยยื่นอุทธรณ์ และฎีกา |
-มูลนิธิฯ แต่งตั้งทนายความในชั้นศาล ทนายวางแผนจะขอเบิกพยานลูกชายคนกลางเป็นพยาน จำเลยรับสารภาพในชั้นสมานฉันท์
-ทนายความจากมูลนิธิฯ ทำเรื่องขอให้ศาลสืบพยานลูกชายคนกลางเพราะเป็นลูกที่อยู่กับแม่ในเวลาที่พ่อใช้ความรุนแรง ซึ่งศาลจะต้องจัดห้องพิจารณาคดีของเด็กโดยเฉพาะแต่ก็ไม่ได้เบิกพยานลูกชายคนกลาง เบิกพยานลูกสาวของบีเท่านั้น |
ทนายความจาก มูลนิธิฯ แนะนำให้ยอมรับว่าเป็นผู้กระทำจริงแต่ไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายถึงขั้นให้เสียชีวิตและทำไปเพื่อป้องกันตัว
และให้รวบรวมเอกสารการเรียนของลูกเพื่อให้ศาลได้พิจารณาถึงภาระความรับผิดชอบที่จะขอให้ศาลเห็นใจลดโทษ
|
คำพิพากษาศาลชั้นต้น | ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ จำคุก ๑๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก ๘ ปี | ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๘๘ ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก ๑๕ ปี ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานย้ายหรือซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตาย จำคุก ๔ เดือน
รวมจำคุก ๑๕ ปี ๔ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๗ ปี ๔ เดือน |
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๙๐ จำคุก๕ ปี
จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว เห็นว่าผู้ตายมีส่วนในการกระทำความผิดโดยลงมือทำร้ายจำเลยก่อน หลังเกิดเหตุบุตรผู้ตายไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย เมื่อจำเลยเป็นผู้หญิงอายุมาก ประกอบอาชีพสุจริตและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ทั้งมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังอยู่ในวัยเรียน ประกอบกับความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยไม่มีข้อเสียหาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน
เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด ๑ ปี |
ศาลอุทธรณ์ | -พิพากษายืนเหมือนศาลชั้นต้นให้จำคุก ๘ ปี
|
บีไม่ต้องการอุทธรณ์ เพราะได้ข้อมูลจากเพื่อน ๆ ในเรือนจำว่าหากศาลตัดสินแล้วก็สามารถขอรับอภัยโทษได้ซึ่งจะช่วยให้ติดคุกไม่นาน | คดีสิ้นสุดที่ศาลชั้นต้น |
ศาลฎีกา | จำคุก ๘ ปี ยืนตามการตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ | – | – |
ความช่วยเหลือที่ได้รับ | – ปลัด อบต.นาในส่งหนังสือถึงมูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเหลือลูก ๆ ที่มีฐานะยากจน และประสานส.ส.ช่วยประกันตัว
|
– มูลนิธิฯ จัดหาทนายความ
– มูลนิธิฯ ช่วยประสานให้ลูกสาวขอทุนช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพื่อประกันตัว (ต่อมาสารภาพจึงไม่ได้ดำเนินเรื่องต่อ) |
-พี่สาวของซี ได้ติดต่อให้สมาชิกสภาเขตประกันตัวชั่วคราวชั้นพนักงานสอบสวน
– มูลนิธิฯ ช่วยซีไปเขียนคำร้องขอความช่วยเหลือเงินประกันตัวและได้รับการอนุมัติจากกองทุนยุติธรรม -มูลนิธิผู้หญิงจัดหาทนายความ |
ระยะเวลาคดี | ๒ ปี ๓ เดือน
๑๕ กันยายน ๒๕๕๑ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ |
เกือบ ๗ เดือน
๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ศาลชั้นต้นพิพากษา |
เกือบ ๗ เดือน
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ศาลชั้นต้นพิพากษา |
ผลกระทบต่อครอบครัว | ลูกทั้ง ๔ คน ขาดผู้ดูแลหลักโดยสิ้นเชิงประกอบกับความยากจนทำให้ลูกสาวสองคนต้องไปอยู่ในความดูแลของญาติที่อยู่คนละอำเภอ
ลูกชายทั้งสองและลูกสาวคนที่สามต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ต่อมาลูกชายคนโตและลูกชายคนที่สองถูกดำเนินคดีฐานความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อร่างกายถูกพิพากษาจำคุก และลูกชายคนที่สองถูกส่งตัวไปที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน |
ครอบครัวขาดเสาหลักที่หาเลี้ยงสมาชิกและขาดแรงงานหลักที่ทำนาให้ครอบครัวได้มีข้าวกิน
ลูกคนเล็กสองคนกำลังอยู่ในวัยเรียน ขาดแม่ดูแล ขาดความอบอุ่น ต้องปรับตัวกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลง
ลูกสาวคนโตต้องรับภาระดูแลน้องๆ และยายอายุ ๗๓ ปี ซึ่งเจ็บป่วยและต้องพาไปหาหมอประจำ |
ซี ไม่ต้องโทษจำคุก ศาลให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี และคุมความประพฤติไว้มีกำหนด ๑ ปี
ทำให้ซีมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้กลับมาดูแลลูกสาวซึ่งกำลังเข้าสู่วัยรุ่น
ได้รับการสนับสนุนทุนประกอบอาชีพจากมูลนิธิฯ สามารถดูแลลูกต่อไป |
ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับ
ความรุนแรงในครอบครัว
จากการศึกษาเปรียบเทียบทั้งสามคดีมีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงในครอบครัวดังต่อไปนี้
๑. พัฒนาแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงในครอบครัว
จากกรณีศึกษา มีเพียงคดีของ ซี เท่านั้นที่มีการนำเอาพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงมาใช้ประกอบในการพิจารณาคดี โดยพนักงานอัยการเสนอเพิ่มเติม จึงทำให้มีพนักงานคุมความประพฤติสืบเสาะข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุหรือที่ไปที่มาของการกระทำที่เกิดขึ้น ในขณะที่ กรณี เอ และ บี ตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาเพียงอย่างเดียว เมื่อจำเลยรับสารภาพ ทำให้ไม่มีการสืบเสาะข้อเท็จจริงในเรื่องประวัติที่จำเลยถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน ในชั้นพนักงานสอบสวน มีเพียงกรณีของ ซี และที่มีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผู้หญิง และทนายที่มูลนิธิฯ จัดหาเข้าร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหาและพยาน ในขณะที่กรณีเอและบีมีเพียงพนักงานสอบสวน
หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีเกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงในครอบครัว กรณีหญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงและต่อมาเป็นฝ่ายทำให้สามีเสียชีวิตและถูกดำเนินคดีอาญา เริ่มจาก พนักงานสอบสวนไม่ควรตั้งข้อหา “เจตนาฆ่า” ตามมาตรา ๒๘๘ ถ้ามีหลักฐานชัดเจนบ่งชี้ว่าเป็นการต่อสู้ป้องกันตัว ให้มีการตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้การพิจารณาคดีมีกระบวนการสืบเสาะและพินิจโดยพนักงานคุมประพฤติ นำประเด็นประวัติความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับในอดีต และผลกระทบจากความรุนแรงที่ได้รับสะสมมาพิจารณา (Battered Wife Syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่แสดงออกถึงสัญญาณความผิดปกติทางจิตจากการถูกกระทำรุนแรงสั่งสมเป็นเวลานาน ผู้พิพากษาสามารถใช้ประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาเหตุบรรเทาโทษ และเป็นเหตุยกเว้นความผิด หรือเหตุลดโทษ อีกทั้งให้มีการนำข้อวินิจฉัยจากจิตแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในเหตุการณ์กระทำผิดเพื่อใช้ประกอบการกำหนดบทลงโทษ และให้มีนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาและทนายความร่วมในการสอบปากคำในชั้นพนักงานสอบสวน
๒. ทักษะและความเข้าใจในมิติเพศสภาพและความรุนแรงในครอบครัว
ความเข้าใจในประเด็นเพศสภาพและความรุนแรงใครอบครัวของพนักงานสอบสวนและทนายความมีความสำคัญในการจัดทำสำนวนคดี ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีในชั้นศาล จากกรณีศึกษา พนักงานสอบสวนกรณีของ ซี สอบพยานเพิ่มเติม ในขณะที่พนักงานสอบสวนกรณีของ เอและ บี ให้ความสำคัญกับอาวุธที่ใช้และความรุนแรงของบาดแผล หลักฐานทางการแพทย์เช่นเดียวกับอาชญากรรมทั่วไป โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นมาหรือสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาเพื่อลดหย่อนผ่อนโทษ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องพัฒนาทักษะและความเข้าใจในมิติทางเพศสภาพและความรุนแรงในครอบครัวให้กับบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม พนักงานสอบสวนที่ควรมีทัศนคติที่ถูกต้องและความเข้าใจถึงผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ควรมีความละเอียดอ่อนในการสอบสวนและเข้าใจสภาพจิตใจของผู้หญิง อีกทั้ง ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือในคดีความรุนแรงในครอบครัว ควรผ่านการอบรมเพื่อมีความรู้ ความเข้าใจมิติเพศสภาพและประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เช่นเดียวกับทนายความที่จะทำคดีเด็กและเยาวชนได้จะต้องผ่านการอบรมก่อนที่จะทำหน้าที่ว่าความในคดีและเยาวชนได้ เพื่อสามารถมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือให้จำเลยได้เข้าถึงความยุติธรรม ทนายความควรต้องหาพยานหลักฐานมาช่วยผู้หญิงเพื่อต่อสู้คดีให้ได้รับโทษต่ำที่สุด มิใช่ให้รับสารภาพเพื่อให้รับโทษต่ำที่สุดโดยไม่ต่อสู้คดี
๓. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและการประกันตัว
พิจารณาให้จำเลยในคดีความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะจำเลยที่ไม่เคยมีประวัติต้องคดีมาก่อนได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการทางสังคมให้โอกาสผู้กระทำผิดที่เป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงได้กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวและดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ต้องได้รับผลกระทบและขาดผู้ดูแลโดยจะต้องมีมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือให้การประกันตัวสามารถกระทำได้โดยง่าย แม้ว่าปัจจุบันจะมีกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือการวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็มีขั้นตอนที่ญาติของจำเลยจะต้องดำเนินการรวมถึงการประสานบุคคลเพื่อรับรองความประพฤติ พบว่าหากครอบครัวไม่มีองค์กรหรือบุคคลให้ความช่วยเหลือการเข้าถึงกองทุนก็เป็นเรื่องที่ยากสำหรับจำเลยและครอบครัว
๔. พัฒนามาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก
แนวทางการตัดสินคดีในกรณีความรุนแรงในครอบครัว ที่มุ่งแต่จะลงโทษ ไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อสังคมในทางใด หากแต่ยังกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะลูก ๆ จากกรณีที่เกิดขึ้นเด็กในครอบครัวต้องสูญเสียพ่อต้องเสียชีวิต หากกระบวนการยุติธรรมเน้นการลงโทษทางอาญาด้วยการจำคุกเช่นเดียวกับกรณีอาญาทั่วไป ก็ยิ่งทำให้เด็กต้องพลัดพรากจากแม่ไปอีก แม้จะมีญาติช่วยเหลือแต่ก็ไม่เหมือนกับการที่ได้อยู่กับแม่ของตนเอง โดยเฉพาะกรณีที่ลูกยังเล็กและอยู่ในวัยเรียนที่ควรมีโอกาสเจริญเติบโตด้วยความรักความอบอุ่น การพิจารณาให้มีการรอลงอาญานับเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้โอกาสผู้หญิงได้กลับไปดูแลครอบครัว รวมถึงการสร้างทางเลือกอื่น ดังเช่นกรณีคดีดอกเตอร์ทำร้ายภรรยาจนเสียชีวิต ศาลตัดสินให้รอลงอาญา ๓ ปีและบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการสอนหนังสือ ด้วยเหตุผล “ยังมีภาระต้องดูแลบุตรซึ่งอายุยังน้อย” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดให้มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และเป็นมาตรการที่ไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง มาสู่การปฏิบัติ (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders)
๕. สิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
ปัจจุบัน ผู้พิพากษาจะใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันเพื่อให้มีการไกล่เกลี่ยเป็นขั้นตอนหลังจากที่อัยการส่งฟ้องแล้ว ซึ่งมุ่งที่จะช่วยลดระยะเวลาไม่ต้องมีการสืบเสาะ หากข้อพิพาทสามารถตกลงกันได้ทำให้ปริมาณคดีที่ค้างศาลลดจำนวนลง ในกรณีหญิงต้องคดีสืบเนื่องจากการถูกกระทำความรุนแรงมาก่อน การไกล่เกลี่ย ของผู้พิพากษา อาจส่งผลต่อสิทธิของผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
กระบวนการสมานฉันท์ในกรณีของ บี ผู้พิพากษาแสดงความเข้าใจในความกดดันและความกลัวของจำเลย จนต้องทำร้ายกลับสามี และได้ข้อมูลประวัติการถูกทำร้ายโดยมีบุตรของจำเลยร่วมอยู่ด้วย จำเลยมีความหวังว่าจะได้รับความเห็นใจจากศาล จำเลยจึงยอมรับสารภาพ จากความตั้งใจเดิมของทนายที่มูลนิธิฯจัดหา วางแผนจะต่อสู้คดีในประเด็นบันดาลโทสะ หรือต่อสู้ให้เห็นว่าป้องกันเกินกว่าเหตุ เพื่อให้ได้รับโทษน้อยที่สุด
ทั้งทนายและจำเลยมีความคาดหวังว่าใจจะได้รับการลดหย่อนโทษ อีกทั้งในชั้นศาล อัยการได้เบิกพยานซึ่งเป็นลูกของผู้ตายและจำเลยซึ่งให้การว่าช่วงดังกล่าววุ่นวายมากผู้ตายวนเวียนพยายามที่จะเข้ามาทำร้ายตลอดแต่ลูก ๆ ได้ห้ามไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อจำเลย แต่ปรากฏว่า ในวันนัดตัดสิน อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๓ มีคำสั่งความเห็นแย้ง ศาลขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป โดยมีการทำคำพิพากษาใหม่ และผลการตัดสินของศาลในที่สุดไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง