รายงานการประชุม สรุปบทเรียนคดีหญิงฆ่าสามีอันเกิดจากการถูกกระทำความรุนแรง
มูลนิธิได้จัดการประชุมนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบกรณีหญิงต้องคดีฆ่าสามีจำนวน ๓ คดี พร้อมข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงในครอบครัว เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ สภาคริสตจักรในประเทศไทย สะพานหัวช้าง สนับสนุนโดย UN WOMEN โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงช่องทางความเป็นไปได้ของข้อเสนอแนะ ดังมีรายละเอียดพอสรุปได้ ดังนี้
- พัฒนาแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องความรุนแรงในครอบครัว
ที่ประชุมพิจารณาเห็นความสำคัญในการพัฒนาแนวปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความคุ้มครองช่วยเหลือทางคดีแก่หญิงที่ได้รับความรุนแรงและต้องคดีฆ่าสามี และเสนอให้ศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมโดยเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา สภาทนายความ
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ องค์กรผู้หญิง เป็นต้น เพื่อหารือและร่วมกันพัฒนาแนวปฏิบัติดังกล่าว เพื่อใช้อบรมบุคลากรของตนและสร้างทีมสหวิชาชีพให้ความช่วยเหลือผู้ต้องคดีและครอบครัว และจัดทำโครงการร่วมกันเพื่อนำร่องอบรมบุคลากรสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นด้วยกันว่า การสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว ควรมีนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา หรือ สหวิชาชีพ เพื่อสามารถรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะต้องแก้ไข ป.วิอาญา วิธีสืบพยาน เพื่อให้มีการค้นหาข้อเท็จจริงประวัติและผลกระทบที่ผู้หญิงถูกทำร้ายจากสามีโดยให้พนักงานคุมประพฤติมีแนวทางในการสืบเสาะข้อมูลประวัติการถูกกระทำความรุนแรงของผู้หญิง
ที่ประชุมเสนอให้มีการปรึกษาหารือและทำข้อตกลงร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกเป็นระเบียบปฏิบัติกรณีคดีความรุนแรงในครอบครัวที่ชัดเจน โดยให้มีการตั้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อมีการประสานแจ้งต่อ พนักงานคุ้มครอง และสามารถรวบรวมข้อเท็จจริงตามแบบ คร.๗
- พัฒนาทักษะและความเข้าใจในมิติเพศสภาพและความรุนแรงในครอบครัว
ที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างทักษะและความเข้าใจในมิติเพศสภาพและความรุนแรงในครอบครัวให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทนายขอแรง เพื่อให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ต้องคดี โดยเสนอให้ประสานกับสภาทนายความ ให้เข้ามาร่วมกำหนดหลักสูตรการอบรมร่วมกัน นอกจากนี้มีการเสนอให้สำรวจความพึงพอใจต่อทนายอาสา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางการอบรม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะทนายความเท่านั้น ที่จะต้องเข้าใจในมิติเพศสภาพและความรุนแรง บุคลากรที่เกี่ยวข้องตลอดสายพานกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงมาจำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเช่นกัน โดยทางสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัวได้ริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน จัดอบรมแก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ระยะแรกการดำเนินโครงการเป็นการอบรมแบบปูพรมเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและประเด็นความละเอียดอ่อนในมิติหญิงชาย ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบความรุนแรงและตกเป็นฝ่ายผู้กระทำเสียเอง และในระยะต่อไปของการดำเนินโครงการอบรมเป็นการมุ่งสร้างผู้เชี่ยวชาญทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการปัจจุบันมีการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมซึ่งยังรอการประกาศบังคับใช้ ซึ่งจะมีในส่วนที่ระบุถึงการให้ความช่วยเหลือด้านทนายความ ซึ่งสามารถใช้งบประมาณจากกองทุน
- สร้างหลักประกันในการเข้าถึงข้อมูลและการประกันตัวให้หญิงที่ตกเป็นจำเลยอันเนื่องจากความรุนแรง
ศาลมีเกณฑ์ให้ประกันตัวอยู่แล้วซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของคดี อย่างไรก็ตามแนวทางใช้มาตรการให้มารายงานตัวแทนการลงโทษจำคุก และกำหนดหลักทรัพย์ให้น้อยลง มีการปฏิบัติโดยศาลอาญาธนบุรีมาแล้วในขณะที่ศาลอื่น ๆ ยังไม่ค่อยมีการปฏิบัติ ปัจจุบันได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีการนำชิปมาใช้ ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าผู้ต้องหายินยอมก็จะช่วยลดปัญหาหลักทรัพย์ที่ใช้ในการประกัน เสนอให้นำข้อมูลการศึกษาของมูลนิธิผู้หญิงไปนำเสนอกองทุนยุติธรรมเพื่อใช้เป็นแนวทางกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาหลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัวกรณีหญิงที่ต้องคดีอันสืบเนื่องจากความรุนแรง
- พัฒนามาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก
ในเรื่องการใช้สถานที่อื่นแทนการคุมขัง ปัจจุบันมีกฎกระทรวงที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ.๒๕๕๒ ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ประชุมเห็นพ้องว่าให้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมหรือปลัดกระทรวงยุติธรรมขอเข้าพบเพื่อปรึกษาหารือการนำกฎกระทรวงดังกล่าว และแนวทาง Bangkok Rules มาใช้เป็นมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก เพื่อนำมาพิจารณาปฏิบัติกับกรณีหญิงต้องคดีฆ่าสามี อันสืบเนื่องจากความรุนแรงในครอบครัว (Battered Wife syndrome) รวมถึงกรณีคดีที่มีการตัดสินพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว เพื่อให้หญิงเหล่านั้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตกับลูกๆ ของตน
- ให้ความสำคัญกับการสืบเสาะข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
ที่ประชุมตระหนักว่า ผลจากที่ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้กระบวนการสิ้นสุดโดยเร็วทำให้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสืบเสาะ และเน้นให้ผู้ต้องหารับสารภาพ
ที่ประขุมเห็นว่าควรพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติการถูกกระทำความรุนแรงเข้าสู่การพิจารณาของศาล
ข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ประชุมตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็น Battered Wife Syndrome/Battered Person Syndrome แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องและสังคม อย่างไรก็ตาม ยังมีการการอภิปรายว่าจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือจะรวมไปถึงนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์หรือให้ครอบคลุมทีมสหวิชาชีพที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ได้เช่นกัน
ให้มีการเก็บข้อมูลสถิติกรณีหญิงที่ต้องคดีฆ่าสามีอันเนื่องจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเห็นขนาดของปัญหาและพัฒนาต้นแบบที่ดีที่จะใช้นำร่องแนวทางการพิจารณาคดีหญิงฆ่าสามี ที่ประชุมได้มีการเสนอว่าน่าจะใช้แนวทางตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้ทำ MOU ไว้กับตำรวจ ให้มีการจัดเก็บข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิง
ให้มีการศึกษาเปรียบเทียบการดำเนินคดีระหว่างกรณีสามีฆ่าภรรยาและภรรยาฆ่าสามี เพื่อพัฒนาไปสู่แนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อไป