Unlimited Web HostingFree Wordpress ThemesDeposit Poker

วงเสวนาเสนอเร่งแก้ไขกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวไม่ให้ไกล่เกลี่ย

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00 – 16.30 น. มูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาขาวิชาโทการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกสตรี สภาประมุขบาทหลวงคาทอลิกแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง การรักษาสถาบันครอบครัว กับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สืบเนื่องจากข่าวความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในกระแสเป็นที่น่าสนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงาน  งานนี้ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร. โกวิทย์ พวงงาม คณะบดีคณะสังคมสงเคราะห์ มธ. กล่าวเปิดงานในฐานะเจ้าบ้าน

 

การเสวนาเริ่มโดย อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการ โครงการมูลนิธิผู้หญิง ผู้ดำเนินรายการเกริ่นนำถึงวัตถุประสงค์การเสวนา คือ เพื่อทบทวนพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่เน้นกระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาสถาบันครอบครัว และรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงปัจจัยและสาเหตุของการใช้ความรุนแรงเพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัว
วงเสวนาเริ่มที่ อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงมีทางเลือกค่อนข้างน้อยในการยุติปัญหา เกิดจากทัศนคติของผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเป็นคดีความก็มักได้รับการไกล่เกลี่ย เพราะถือเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ ตามมาตรา 4 ที่ให้มีการประนีประนอม ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญจากคณะอนุกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบแห่งสหประชาชาติ (CEDAW) และคณะกรรมการอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวยังมีน้อย คณะกรรมการอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ฯ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยให้ดําเนินมาตรการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ให้อํานวยความสะดวกในการร้องเรียนให้ผู้เสียหายทราบถึงระบบการขอความช่วยเหลือ เสริมสรางระบบการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการคุ้มครองทางจิตสังคมโดยเฉพาะผู้เสียหายกรณี Battered Person Syndrome ซึ่งมีแนวโน้มกลับมาใช้ความรุนแรงกับสามีที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้
ต่อประเด็นนี้ อ. จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเด็นผู้กระทำความรุนแรงตกอยู่ในสภาพหรือเสมือนผู้ป่วยทางจิต มีโอกาสกระทำความรุนแรงโต้กลับ (Post Traumatic Syndrome Disorder และ Battered Wife Syndrome หรือ Battered Woman Syndrome หรือ Battered Person Syndrome) ไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นตัวตั้งในการจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกฎหมายนี้จึงช่วยอะไรไม่ได้ พร้อมกันนี้ท่านได้ยกตัวอย่างคดีในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นหลังจากแพทย์ทางด้านจิตเวชมีมติยืนยันว่า Battered Wife Syndrome เป็นอาการเฉพาะชนิดหนึ่งของ Post Traumatic Syndrome Disorder ที่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริการับไปปรับใช้ตั้งแต่ปี 1994 เป็นเหตุให้จำเลยพ้นมลทินจากโทษทัณฑ์ของกฎหมายอาญาแบบดั้งเดิม อ. จรัญเสนอว่า วงการการแพทย์ไทย ราชวิทยาลัยทางจิตเวชของไทย ควรมีมติวางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเลยว่า นี่เป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าศาลไทยจะรับไปใช้ประกอบการใช้กฎหมายอาญา ทั้งนี้ อ. จรัญ เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เติมโดยเพิ่มมาตรา 4/1 ระบุผู้ถูกกระทำถูกกระทำด้วยความรุนแรงซ้ำหลายครั้ง หรือถูกข่มขู่ทำให้ผู้ถูกกระทำตกอยู่ในสภาพจำยอม (BWS) ไม่สามารถจะหลีกหนี ให้พ้นจากการถูกกระทำความรุนแรงได้ เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้
ศิริพร สะโครบาเน็ค ประธานมูลนิธิผู้หญิง ได้ยกตัวอย่างคดีจากการทำงานของมูลนิธิฯ ซึ่งมีลักษณะของ Battered Wife Syndrome ที่มูลนิธิฯ เข้าไปดูแลตั้งแต่เรื่องประกันตัวในช่วงที่ดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ผู้หญิงต้องติดคุก โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หญิงถูกตั้งข้อหาฆ่าสามี ได้มีการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาประกอบการพิจารณาคดีจนศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสกลับมาอยู่กับครอบครัว และได้เสนอให้มีแนวปฏิบัติในการพิจารณาคดีเมื่อผู้หญิงต้องคดีฆ่าสามี ให้มีการนำประเด็นเรื่องการดูแลลูกมาประกอบการพิจารณาคดี รวมถึงควรมีหน่วยงานที่แทรกแซงเข้าไปช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ผู้หญิงต้องติดคุกระหว่างดำเนินคดีด้วย ในส่วน พ.ร.บ.ฯ ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย กระบวนการไกล่เกลี่ยปรองดองต้องใช้มืออาชีพ ต้องคำนึงถึงผู้เสียหาย ไม่ใช่เน้นคำนึงถึงการดำรงอยู่ของสถาบันครอบครัว ต้องปรับทัศนคติ ออกแบบความคิด และเลิกรูปแบบการออกแบบกฎหมายที่เริ่มจากคณะกรรมการระดับชาติ กฎหมายควรกำหนดกรอบการปฏิบัติของกลไกที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับชั้นพนักงานสอบสวนที่จะให้ความคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ฯ
ส่วน อ. ปิ่นหทัย หนูนวล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง Concept ของครอบครัวที่พูดถึง ความรัก ความชอบ และความผูกพัน ซึ่งสามสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่บนฐานดุลยภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากดุลยภาพหายไปก็จะเกิดความขัดแย้ง ดุลยภาพของครอบครัวไม่จำเป็นว่า พ่อ แม่ ลูก จะต้องอยู่ด้วยกัน ใน พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวซึ่งร่างขึ้นเพื่อใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ. ศ. 2550 มีคำที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสถาบันครอบครัว การสมานฉันท์ การไกล่เกลี่ยค่อนข้างมาก ซึ่งกลไกคือ พนักงานสอบสวน ในมุมมองของงานสังคมสงเคราะห์ไม่ได้มองประเด็นการไกล่เกลี่ยที่เนื้อหาแต่มองในประเด็นอารมณ์ ความรู้สึก ครอบครัวคือชีวิต ผู้ที่จะทำการไกล่เกลี่ยต้องรู้จักฟังโดยเฉพาะด้านอารมณ์ ความรู้สึกหลังถูกกระทำ การไกล่เกลี่ยจึงควรเป็นกระบวนการที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งมองเห็นอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายก่อนการตัดสินใจจะยังอยู่ด้วยกันหรือไม่ ใครก็ได้ที่ถูกจัดวางบทบาทให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมต้องทำให้ครอบครัวดำรงอยู่โดยคนในครอบครัวตระหนักในสิทธิของตนเอง มีกระบวนการทำให้ข้อมูลจากการทำงานกลับไปสู่นักวิชาชีพ มีการผลิตนักวิชาชีพในรูปแบบที่นักกฎหมายเข้าใจมิติทางสังคม นักสังคมฯเข้าใจกฎหมาย
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง จากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ประเด็นความรุนแรงหากผู้กระทำเป็นคนกว้างขวางเป็นที่เกรงอกเกรงใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับพบว่ามีการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย ใน 10 คดีที่เคยทำ ผู้หญิงถูกกระทำซ้ำซาก เพราะหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานหลักไม่สามารถทำให้เห็นได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวสามารถแก้ไขได้ ถ้าจะร่างกฎหมายอาจต้องให้ผู้หญิงที่มีประสบการณ์มานั่งเล่า เนื้อหาต้องครอบคลุมกระบวนการสืบสวนทางด้านความรุนแรง อัยการและผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าใจ การตั้งข้อหาต้องไม่ใช่เจตนาฆ่า มีคุณหมอมาพูดถึงอาการทางจิตที่ถูกกระทำความรุนแรง ทำให้เห็นว่าในวิกฤติยังมีโอกาส ในการอุทธรณ์ต้องสู้อย่างมีสติหรือถูกทาง ศาลสูงท่านก็ต้องมีวิธีพิจารณาคดีให้ถึงข้อยุติอย่างเข้าใจ และทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมีทางออก
ในช่วงท้าย วงเสวนาเห็นด้วยกับข้อเสนอในเรื่องการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และหลายท่านยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ควรมีกระบวนการไกล่เกลี่ย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ไม่ได้นำมาซึ่งการยุติความรุนแรงที่แท้จริง และขอให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวที่จะใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ. ศ. 2550 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณานำเสนอ ครม. กลับมา เนื่องจากยังมีจุดบกพร่องเพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขก่อนนำเสนอในเวลาอันสมควร ซึ่งนายวิศิษฐ์ เดชเสน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าจะนำข้อเสนอไปเรียนผู้บริหารเพื่อทบทวนและปรับแก้กฎหมายให้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

วงเสวนาถกแก้ พ.ร.บ.ความรุนแรงฯ กรณีภรรยาฆ่าสามี-จี้ถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพฯ


http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-talk-interview/item/52893-ww-52893.html

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Thai / English

บทความล่าสุด
ปฎิทินกิจกรรม
May 2023
M T W T F S S
« Sep    
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031