Unlimited Web HostingFree Wordpress ThemesDeposit Poker

ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ….  เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน  โดยระบุถึงปัญหาและอุปสรรคจากการที่ไม่มีกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวตามหลัก Family Life Cycle  เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ  และเครือข่ายองค์กรที่ทำงานป้องกันแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ประกอบด้วย สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และมูลนิธิผู้หญิง จึงได้ร่วมกับ สาขาวิชาโทการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรวบรวมข้อเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

ข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

๑. ขาดความชัดเจนว่าต้องการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือมีเป้าหมายในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากทั้งสองเรื่องนี้มีความแตกต่างกันทั้งในหลักการและกระบวนการทำงาน  เรื่องของความรุนแรงเป็นเรื่องของการทำร้ายกันซึ่งเป็นความผิดอาญา  ซึ่งจะต้องคำนึงสิทธิของผู้ถูกกระทำที่จะได้รับความคุ้มครอง ในขณะที่ร่างพ.ร.บ.กลับเน้นการรักษาการดำรงอยู่ของครอบครัว ขัดต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบต่อประเทศไทย ในการประชุมสมัยที่ 34 ข้อ 23 แสดงความห่วงใยว่าผู้กระทำผิดจะได้รับการลงโทษที่ไม่เพียงพอ และการสร้างความสมานฉันท์ในครอบครัวอาจนำไปสู่การสูญเสียสิทธิของผู้หญิงในการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความรุนแรง

๒. ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวมากกว่าการคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เน้นให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ย  ประนีประนอม ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง  ซึ่งผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง  แต่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของบุตรเป็นหลัก  ในเรื่องการประนีประนอมซึ่งมีผู้ที่จะมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจะต้องผ่านการอบรมมีความเข้าใจ โดยไม่ได้เข้ามาเพื่อตัดสินชี้ขาด  แต่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ที่เข้าร่วมไกล่เกลี่ย

๓. ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว ในขั้นตอนการแจ้งคำสั่งศาลไปยังผู้กระทำความรุนแรงระบุให้ปิดคำสั่งศาลในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย จึงเสมือนเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว

๔. ขาดคำนิยามที่มีความชัดเจนและทำให้ต้องมีการตีความในการปฏิบัติซึ่งย่อมขึ้นกับความเข้าใจของเจ้าหน้าที่แต่ละคน โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั่วไปยังไม่ได้คำนึงถึงครอบครัวของกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือรูปแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ จากพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ฉบับแรกยังมีความเห็นแย้งกันในการตีความว่า บุคคลในครอบครัวจะให้ความคุ้มครองรวมถึงคนรับใช้ในบ้านด้วยหรือไม่ แม้จะบัญญัติไว้ว่าสามารถออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมต่อไปในภายหลังได้ ก็ยังขาดหลักประกันว่าจะตีความครอบคลุมกลุ่มบุคคลเหล่านี้

๕. ขาดการกำหนดกลไกในการทำงานที่ชัดเจน ศูนย์ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเป็นกลไกการทำงานเพื่อให้แผนส่งเสริมพัฒนาครอบครัวไปสู่การปฏิบัติแต่ถูกกำหนดให้มีบทบาทในการไกล่เกลี่ยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยไม่ได้กำหนดการสรรหาพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดังกล่าวที่ชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการทำงานของศูนย์จะเป็นระบบอาสาสมัคร แต่ในการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยเพื่อคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการกระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องเป็นบุคคลากรที่ผ่านการอบรม เข้าใจในความละเอียดอ่อนของปัญหาและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำ อีกทั้งการกำหนดให้นายทะเบียนมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสที่มาจดทะเบียนสมรสและมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยเมื่อมาจดทะเบียนหย่า โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวอาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการ

 

 ข้อเสนอแนะ

  • ปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้มีความสมบูรณ์ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW ที่ให้ไว้ แทนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ โดยให้มีเป้าหมายชัดเจนในการคุ้มครองบุคคลผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและคำนึงถึงสิทธิของผู้ประสบปัญหา เมื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงต้องการดำเนินคดี ต้องใช้มาตรการทางอาญาลงโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการตามกฎหมายไปให้ถึงที่สุด ศาลครอบครัวจะต้องคำนึงของประโยชน์สูงสุดของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกระทำความรุนแรงในการที่จะให้คำแนะนำเรื่องการไกล่เกลี่ย
  • กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือ การให้คำปรึกษา การดำเนินการทางกฎหมายควบคู่ไปกับการฟื้นฟูผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่บทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานรองรับในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ชัดเจน ในต่างประเทศรัฐไม่ได้จัดตั้งกลไกรองรับเอง แต่จะให้การสนับสนุนเงินทุนกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่าที่รัฐจะเข้ามาเริ่มใหม่เองตั้งแต่ต้น
  • กำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมสมาชิกในครอบครัวทุกรูปแบบ รวมถึงคนรับใช้ในบ้าน และครอบครัวของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ จะต้องรวมถึงการให้ความคุ้มครองกรณีหญิงฆ่าสามีอันเกิดจากถูกกระทำความรุนแรงสั่งสมมานาน และจะต้องมีมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุกโดยใช้แนวทาง Bangkok Rules รวมถึงกรณีคดีที่มีการตัดสินพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว เพื่อให้หญิงเหล่านั้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตกับลูกๆ ของตน
  • บุคลากรที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงลงมาจำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยทางสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัวได้ริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน จัดอบรมแก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ระยะแรกการดำเนินโครงการเป็นการอบรมแบบปูพรมเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและประเด็นความละเอียดอ่อนในมิติหญิงชาย เพศสภาพและในระยะต่อไปของการดำเนินโครงการอบรมเป็นการมุ่งสร้างผู้เชี่ยวชาญทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ

รายชื่อผู้เข้าร่วมการอภิปราย

๑. วิศิษฐ์ เดชเสน                         กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

๒. นัธทวัฒน์ คำมณี                      กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

๓. ศิริพร สะโครบาเน็ต                   มูลนิธิผู้หญิง

๔. อุษา เลิศศรีสันทัด                    มูลนิธิผู้หญิง

๕. ปิ่นหทัย หนูนวล                      คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๖. สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง                   มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

๗. สุจิตรา สุทธิพงศ์                      มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก

๘. สวาท ประมูลศิลป์                    สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

๙. อารีวรรณ จตุทอง                     สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

๑๐. ฐานิชชา ลิ้มพานิช                   เครือข่ายครอบครัว

๑๑. พิมพ์ธรรม เอื้อเฟื้อ                  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ

๑๒. สุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์                อนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๑๓. พเยาว์ ศรีแสงทอง                  คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑๔. ณัฐวุฒิ บัวประทุม                   มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก

๑๕. ศุภสิทธิ์ ศุภชัยศิริจันทร์            นักศึกษาปริญญาโทคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

๑๖. สุธาทิพย์ ชูกำแพง                  แผนงานสุขภาวะผู้หญิง

๑๗. มัลลิกา เหมือนวงศ์                 กองคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

๑๘. ชัญญา ควรสุวรรณ                 กองคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว

๑๙. อรุณวดี ลิ้มอังกูร                    สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

๒๐. ชนกานต์ หมายมั่น                  กลุ่มหญิงสู้ชีวิต

๒๑. โชติกา สุรเสน                       กลุ่มหญิงสู้ชีวิต

๒๒. พัฒน์นรี ศรีจามร                    มูลนิธิผู้หญิง

๒๓. วรลักษณ์ จรัญรักษ์                มูลนิธิผู้หญิง

๒๔. พนิตพิชา ใต้แสงทวีธรรม         มูลนิธิผู้หญิง

๒๕. ปานจิตต์ แก้วสว่าง                 มูลนิธิผู้หญิง

๒๖. สุพัตรา ณ นุวงศ์                     มูลนิธิผู้หญิง

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Thai / English

บทความล่าสุด
ปฎิทินกิจกรรม
May 2023
M T W T F S S
« Sep    
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031