Unlimited Web HostingFree Wordpress ThemesDeposit Poker

งานเปิดตัวหนังสือ “เรือชีวิต” หนังสืออ่านสำหรับเด็กเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 มูลนิธิผู้หญิงได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ “เรือชีวิต” หนังสืออ่านสำหรับเด็กเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ณ โรงแรมอีโค่ อินน์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสหภาพยุโรป (EU)

โดยงานนี้เริ่มจากที่ คุณดาราราย รักษาสิริพงศ์ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิผุ้หญิง กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “เรือชีวิต” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อ 1) นำเสนอหนังสือ “เรือชีวิต” หนังสืออ่านสำหรับเด็กเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ 2)เสวนาแลกเปลี่ยนบทบาทของชุมชนในการป้องกันเด็กจากความรุนแรงทางเพศพร้อมกับรับฟังเสียงของเด็กผู้หญิงในชุมชน ต่อมาตัวแทนแกนนำเด็กหญิงพม่ามุสลิมกล่าวความรู้สึกและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน ในช่วงพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก คุณถิรยุทธ ฉันติกุล รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครแม่สอด เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

หนังสือเรือชีวิตเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีเนื้อหารวม 4 ประเด็น ได้แก่ คำนิยามของความรุนแรงทางเพศ กรณีศึกษา เส้นทางการเข้าถึงความยุติธรรม และวิธีการป้องกันตนจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากเนื้อหาทั้ง 4 ประเด็นแล้วนั้น ในหนังสือเล่มนี้ยังมีจดหมายให้กำลังใจเพื่อนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นจดหมายที่เด็กหญิงพม่ามุสลิมร่วมกันเขียนส่งไปหาเพื่อน

หลังจากนำเสนอหนังสือเรือชีวิต เด็กหญิงพม่ามุสลิมได้นำเสนอภาพถ่ายในชุมชนที่เด็กๆได้ร่วมกันถ่ายเพื่อสะท้อนให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และข้อกังวลในชุมชน เช่น ภาพบ้านร้างที่สะท้อนให้เห็นว่าในชุมชนมีพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย กลุ่มวัยรุ่นมักเข้าไปมั่วสุ่ม ทำให้เด็กผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัย

ช่วงเสวนาแลกเปลี่ยนบทบาทของชุมชนในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
การเสวนาเริ่มขึ้นโดย ดร.ปิ่นหทัย หนูนวล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ เกริ่นนำถึงวัตุประสงค์การเสวนา คือ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนบทบาทของชุมชน ในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

วงเสวนาเริ่มที่ คุณอนุศักดิ์ รัตนกุล ผู้นำชุมชนอิสลาม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของเด็กในชุมชนพม่ามุสลิมกว่า 300 คนขาดโอกาสทางการศึกษา พ่อแม่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เด็กกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ในฐานะคนทำงานในชุมชนจึงต้องร่วมระดมความคิดและหาทางช่วยเหลือ ส่วนปัญหายาเสพติดที่ยังมีให้เห็นในชุมชนคิดว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ยังไม่แก้ปัญหาเท่าที่ควร

สำหรับ คุณอรุณี สาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามศึกษา กล่าวว่า คณะทำงานและองค์กรต่างๆ เป็นห่วงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน แต่การให้ความช่วยเหลือไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ซึ่งการให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมาขาดเจ้าภาพ ขาดงบประมาณ เด็กที่ไม่อยู่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ยากลำบาก ต้องช่วยพ่อแม่หาเงินโดยการเดินเก็บขยะหาของเก่าไปขาย นอกจากนี้ยังสุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด ส่งผลต่อนักเรียนหญิงและคุณภาพชีวิตของคนชุมชน ในส่วนของพฤติกรรมด้านเพศนั้น เห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบด้านเพศ มักลองผิดลองถูก และขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย

ทางด้าน คุณหรรษา ศิริพงษ์ไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยม่วง กล่าวว่า ความรัก ความเอ็นดู ความเอาใจใส่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เด็กนักเรียนไว้วางใจและกล้าเล่าปัญหาให้ครูรับรู้ ส่วนด้านการบริหารจัดการ นอกจากจัดการเรียนการสอนให้นักเรียน โรงเรียนได้เน้นระบบการช่วยเหลือ ถ้าเป็นความรุนแรงในครอบครัวจะให้ผู้นำชุมชนช่วยดูแล ด้านยาเสพติดจะมีชุด ชพร ป้องกันภัย และหากเป็นการคุกคามทางเพศ จะสร้างการป้องกันด้วยการอบรมให้เด็กหลีกเลี่ยงและรู้วิธีการป้องกันตนเอง ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุโรงเรียนจะประสานไปยังกลุ่มส่งเสริม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เพื่อให้ สพป ได้รับทราบและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เด็กที่ถูกละเมิด เขาก็สามารถเปิดใจ ไว้ใจ รู้สึกปลอดภัย และยินยอมเข้ารับการคุ้มครอง

ในส่วนของ คุณสุวิมล เสระศาสตร์ ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านห้วยม่วง เล่าถึงประสบการณ์การช่วยเหลือเด็กในโรงเรียนว่า นอกจากสอน อบรมให้ความรู้เด็กนักเรียน ครูต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เด็กบางคนมาโรงเรียนด้วยอากาศซึมเศร้าผิดปกติ บางคนร้องไห้ ซึ่งเราในฐานะครูจึงต้องสอบถามเด็ก การเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้ครูเห็นภาพของครอบครัว เห็นการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือนักเรียนได้ทันการ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดจากผู้ปกครองนั้น มักมาจากคนกระทำที่ไม่ใช่พ่อแท้ๆ อยากจะให้ผู้นำชุมชนช่วยดูแลใกล้ชิดมากขึ้น

จากการแลกเปลี่ยนในวงเสวนาและการนำเสนอหนังสือเรือชีวิต คุณถิรยุทธ ฉันติกุล รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครแม่สอด ได้เสนอว่า หนังสือควรจะจัดแปลเป็นสี่ภาษา จัดทำเป็น pocket book นอกจากเรื่อง หนังสือ ทางเทศบาลเองต้องดูแลทุกเรื่องแต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ทั้งนี้หากมีปัญหาสามารถแจ้งต่อเทศบาลได้

ต่อมา น้องธินธิน เด็กในโครงการ Ray of youth ได้กล่าวชื่นชมเพื่อนๆเด็กหญิงพม่ามุสลิม ที่จัดทำหนังสือ ซื่งมีประโยชน์อย่างมาก ทำให้เด็กรู้วิธีป้องกันตนเอง

ส่วน น้องชายมยาท เด็กในโครงการ Ray of youth แสดงความรู้สึกว่า วันนี้ได้เรียนรู้เพื่อนๆชาวมุสลิม ได้เห็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และความสามารถของเพื่อน ซึ่งแต่ก่อนไม่มีโอกาสได้รู้จัก คนส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่ดีต่อชาวมุสลิมและค่อนข้างแแบ่งแยก งานในวันนี้ทำให้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อชาวมุสลิม

และ น้องไฮน์เตท เด็กโครงการ Ray of youth เห็นว่า ข้อมูลที่จะได้จากหนังสือเป็นสิ่งที่ดีอย่างมาก เพราะแต่ก่อนเด็กหญิงที่ประสบปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่มีทางออก ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร ทำให้เด็กคิดจะฆ่าตัวตาย วันนี้ทำให้เห็นภาพของขั้นตอนการช่วยเหลือและการป้องกันตัวมากขึ้น สามารถนำไปบอกต่อเพื่อนๆคนอื่นๆได้

การจัดงานวันนี้ ผู้เข้าร่วมงานเห็นว่าหนังสือ “เรือชีวิต” เป็นสื่อชิ้นหนึ่งที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีป้องกันตัวจากการถูกละเมิดทางเพศ รวมไปถึงได้รับข้อมูลการทำงานช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ และวันนี้ ได้เห็นพลังและศักยภาพของเด็กเยาวชนทั้งเด็กมุสลิม และเด็กจากพม่ากลุ่มอื่นๆ ที่ตระหนักถึงการทำงานป้องกันโดยใช้หน้งสือนี้ และการเผยแพร่ให้เด็กมีข้อมูลและหากถูกละเมิดจะสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือคุ้มครอง

 

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Thai / English

บทความล่าสุด
ปฎิทินกิจกรรม
May 2023
M T W T F S S
« Sep    
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031