เร่งแก้ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก ยืนยันสิทธิเด็กและต้องมีมาตรการปฏิบัติสำหรับผู้นำศาสนา
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561 มูลนิธิผู้หญิงร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ จัดเสวนาเรื่อง การแต่งงานกับเด็ก จุดยืนทางศาสนา ช่องว่างทางกฎหมาย กับสิทธิเด็กหญิง ที่โรงแรมวิคทรี กรุงเทพมหานคร การเสวนาเริ่มโดยอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิงเกริ่นนำ ว่าการแต่งงานในวัยเด็กเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่หลังจากที่ปรากฎข่าวกรณีเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี สมรสกับชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปี ทางเครือข่ายผู้หญิงได้พูดคุยและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจทั้งในแง่ของหลักการศาสนา ข้อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นรัฐภาคี รวมไปถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิง ดังนั้นแม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กหญิงมุสลิม อายุ 11 ปี แต่ก็มีความจำเป็นที่เราจะแสวงหาแนวทางร่วมกันในการป้องกันแก้ไขปัญหาโดยเราจะไม่ทอดทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งให้ต้องเผชิญกับปัญหานี้
วงเสวนาเริ่มต้นด้วยเสียงจากชุมชน ตัสมิน เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า และเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยกล่าวว่า ปัญหาการแต่งงานของเด็กหญิงในวัย 11 ปี หรือวัยใกล้เคียงนั้น ชุมชนไม่ได้ตื่นเต้นกับปัญหาที่เกิด เพราะในพื้นที่มีสถานการณ์ในลักษณะนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว สำหรับกรณีการสมรสระหว่างชายวัย 41 ปี กับเด็กหญิงวัย 11 ปี นั้น ในพื้นที่มีข้อมูลว่าเด็กหญิงอายุ 16 ปี แต่แจ้งเกิดช้า อายุจึงไม่ตรงกับความเป็นจริง ยอมรับว่าการนิกะห์หรือแต่งงานในพื้นที่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผิดหลักศาสนา โดยหลักการศาสนาระบุว่าผู้หญิงสามารถนิกะห์หรือแต่งงานได้เมื่อมีประจำเดือน หากมีการแต่งงานหลังมีประจำเดือนจึงไม่ขัดกับหลักศาสนา แต่เราไม่ส่งเสริมให้แต่งงานในวัยเด็ก การแต่งงานของเด็กหญิงช่วงวัย 11-12 ปี มีจำนวนมาก หลายกรณีมาจากอิสระในการคบค้ากับเพศตรงข้าม เมื่อผู้ใหญ่หรือพ่อแม่รู้เห็นจึงจัดการให้อยู่ในขนมธรรมเนียบประเพณี จัดงานแต่งงานให้โดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาอื่นๆ นอกจากนี้ในพื้นที่ก็มีอีกหลายกรณีที่การแต่งงานเกิดจากการใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น นายจ้างแต่งงานกับลูกสาวของลูกจ้าง เป็นต้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่แต่งงานก่อนวัยอันควรหรือวัยเด็กมีจำนวนมากที่ต้องหย่าร้างหลังจากนิกะห์หรือแต่งงานได้ไม่นาน
ด้าน ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ประธานฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นในแง่ของศาสนาว่า การแต่งงานในอิสลามเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความต้องการของมนุษย์ที่เกิดมาแล้วมีความต้องการต่างๆ รวมถึงความต้องการทางเพศ การปลดปล่อยความต้องการทางเพศเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนแต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของคุณธรรม จริยธรรม ไม่นำไปสู่การสร้างปัญหาให้สังคม การแต่งงานทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน นำครอบครัวไปสู่อนาคตที่ดี การนิกะห์หรือแต่งงานต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ผู้หญิงต้องแต่งงานด้วยเต็มใจ หากเด็กหญิงไม่สามารถตัดสินใจได้เองก็ให้ผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินใจ นักวิชาการอิสลามหลายท่านเห็นว่าแม้พ่อจะมีอำนาจตัดสินใจแทนลูกแต่ก็ไม่ให้บังคับ สำหรับมุสลิมในประเทศไทยส่วนใหญ่เห็นว่าพ่อกับปู่มีสิทธิที่จะบังคับให้แต่งงานได้แม้ลูกสาวไม่ยินยอมโดยมีเงื่อนไขคือการแต่งงานนั้นต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของลูกไม่ใช่ผลประโยชน์ของพ่อ และมีความเหมาะสม ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดอายุที่เหมาะสมในการแต่งงาน
จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจริงๆแล้วเด็กหญิงอายุ 16 ปี พ่อแม่ทำงานในสวนยางของชายวัย 41 ปี ฐานะดี มีภรรยามาแล้ว 2 คน การนิกะห์ที่เกิดขึ้นกระทำโดยอิหม่ามในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสไม่ได้รับรองการนิกะห์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสลามจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ได้หารือประเด็นอายุที่จะนิกะห์หรือแต่งงานร่วมกัน โดยเห็นว่าถ้าการแต่งงานของเด็กที่อายุต่ำกว่า 17 ปี อิหม่ามในพื้นที่ไม่สามารถนิกะห์ได้ต้องส่งให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณา สำหรับการชี้ขาดกรณีปัญหาระหว่างชายมาเลเซียกับเด็กหญิงไทย ดาโต๊ะยุติธรรมหรือคณะกรรมการอิสลามสามารถเป็นผู้ติดสินชี้ขาดได้โดยต้องมีการยื่นคำร้อง ทั้งนี้พนักงานคุ้มครองเด็กสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการแต่งงานได้เช่นกัน ดร.วิสุทธ์ ยังได้ให้ข้อมูลว่า ทางคณะกรรมการอิสลามได้ตั้งคณะทำงานเพื่อจะจัดทำมาตรการปฏิบัติในการแต่งงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการแต่งงานในวัยเด็กต่อไป
ในส่วนของ สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า หลายประเทศมุสลิมได้กำหนดอายุที่เหมาะแก่การสมรสไว้อย่างชัดเจน มีบางประเทศที่ไม่ได้ระบุประเด็นอายุเอาไว้ ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่รัฐอิสลามก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลด้วย ตาม พรบ.การขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กณีแต่ละฝ่าย” จากบทบัญญัติดังกล่าวการสมรสของชายมาเลเซียแะเด็กหญิงไทยจึงต้องสอดคล้องและเป็นไปตามหลักกฎหมายภายในทั้งสองประเทศด้วย โดยกฎหมายมาเลเซียมีเงื่อนไขของการสมรส 2 ประการ คือ 1.ชายอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และหญิงอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และ2.หากฝ่ายชายมีภรรยาอยู่ก่อนแล้วต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาคนก่อนหน้าด้วย ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายมาเลเซีย เพราะเด็กหญิงอายุไม่ถึง 16 ปี และภรรยาคนที่สองของชายชาวมาเลเชียออกมาเปิดเผย คัดค้าน ไม่ให้ความยินยอม รัฐมาเลเซียจึงไม่รับรองการสมรสในครั้งนี้
ประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ การให้เด็กแต่งงานจะทำให้เกิดผลร้ายต่อเด็ก คือ เด็กจะไม่สามารถพัฒนาตนเอง ไม่สามารถพึ่งพาตนเอง ขาดทักษะการใช้ชีวิต ทั้งนี้การสมรสไม่ได้เป็นไปเพื่อสนองความต้องการทางเพศ
สำหรับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การแต่งงานเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงมุสลิมไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้หญิงมุสลิมที่ประสบปัญหามากว่าร้อยละ 90 จะใช้กลไลของคณะกรรมการกลางอิสลามมากกว่าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมาย ไม่มีค่าใช้จ่าย และมีอุปสรรคด้านภาษา จึงทำให้ฝากความหวังไว้ในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ตามในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้หญิง คณะกรรมการอิสลามส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีบทบาทและอำนาจพิจารณา ผู้หญิงไม่มีโอกาสเป็นคณะกรรมการอิสลาม ทำให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาเผชิญกับความกลัวที่จะเล่าปัญหา
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า เมื่อสองปีที่แล้วในจังหวัดยะลามีเด็กหญิงวัย 10 ปี แต่งงานและตั้งครรภ์
ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบถึงสถิติการแต่งงานของเด็กเพราะไม่ได้สมรสตามกฎหมายแพ่ง ในกรณีของการแต่งงานระหว่างชายมาเลเซียกับเด็กหญิงไทย สรุปได้ว่า เด็กเกิดในครอบครัวที่ยากจน ไม่ได้รับการศึกษา พ่อทำงานรับจ้างกรีดยางในสวนของฝ่ายชาย แม่ทำงานในร้านอาหารของภรรยาคนหนึ่งของฝ่ายชาย ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การพิจารณาชี้ขาดจึงต้องดูว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็กหรือไม่ เข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ มีประเด็นที่สร้างความคลุมเครือ คือ อายุของเด็ก ควรตรวจด้วยวิธี MRI สำหรับประเด็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ภาคประชาสังคมในมาเลเซียได้มีการเปิดเผยว่าเด็กหญิงได้รับการตรวจร่างกายและพบว่ามีการสอดใส่ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่พบในรายงานของประเทศไทย ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศมุสลิม มีศาลชารีอะฮ์ในการพิจารณาคดีครอบครัว ดังนั้นถ้าแต่งงานโดยไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายมาเลเซียก็จะส่งผลต่อฝ่ายหญิงหรือเด็กที่จะเกิดในอนาคต เพราะกฎหมายจะไม่ให้ความคุ้มครองและไม่สนับสนุนสวัสดิการในทุกๆด้าน
นอกจากนี้ได้มีข้อคิดเห็นต่อผู้นำศาสนา คือ กรณีผู้หญิงหรือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและมีการบังคับให้แต่งงานกับผู้กระทำจะส่งผลให้ผู้หญิงต้องทุกข์ทนทรมาน การข่มขืนเป็นความผิดอาญาต้องเอาคนผิดมาลงโทษ การแต่งงานของเด็กนั้นผู้นำศาสนาต้องมีมาตรการในการตรวจสอบและปกป้องเด็กหรือผู้เสียหายให้มากกว่านี้ ที่สำคัญแม้ว่าเด็กหรือพ่อแม่ยินยอม ผู้นำศาสนาก็ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้ชายที่จะมาแต่งงานด้วยไม่เป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต หรือโรคที่ชอบมีความใคร่กับเด็ก ผู้นำศาสนาต้องเรียนรู้เรื่องเพศสภาพ รัฐไทยยังไม่สามารถตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ดังนั้น ไทยควรประสานความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียเพื่อหาความจริงร่วมกันและนำคนผิดมาลงโทษ
ประเด็นในการเสวนาแลกเปลี่ยน เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้น เด็กควรจะต้องได้คุยกับนักจิตวิทยา ต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้มีการสืบพยานจากเด็กอย่างเหมาะสม ในการป้องกันปัญหาในอนาคต จะต้องมีการทำงานให้ความรู้ในเรื่องหลักอิสลามกับการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในพื้นที่ จะต้องไม่ให้มีการแต่งงานในวัยเด็ก โดยเฉพาะการบังคับให้แต่งงานกับผู้ที่ข่มขืนโดยอ้างศาสนา ตลอดจนเห็นร่วมกันให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 277 ที่ยังมีข้อยกเว้น ไม่เอาผิดการกระทำชำเราเด็กอายุตำ่กว่า 15 ปีที่เป็นภรรยา