Unlimited Web HostingFree Wordpress ThemesDeposit Poker

เปิดรายงานปัญหาละเมิดสิทธิพนักงานบริการ

เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เปิดรายงาน ผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ‘ยกที่หนึ่ง ชัยชนะสิทธิพนักงานบริการ’ ที่โรงแรมฮิพ รัชดา โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ไหม จันตา ตัวแทนพนักงานบริการ นัยนา สุพาพึ่ง มูลนิธิธีรนาถ อุษา เลิศศรีสันทัด มูลนิธิผู้หญิง และศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ที่เสวนาเปิดปัญหาละเมิดสิทธิพนักงานบริการตั้งแต่จับกุม กักตัว และตีตราในหนังสือเดินทาง พบการล่อซื้อ-รูปหลุด ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสนอยกเลิก พ.ร.บ.ปราบปรามค้าประเวณี เขียนใหม่ในเชิงคุ้มครอง ยกตัวอย่างเชียงใหม่โมเดลสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าของสถานบริการ พนักงานบริการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ด้าน จนท. ตำรวจชี้ ‘ตำรวจเป็นเหมือนแพะของการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล’

ข้อเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ปราบปรามค้าประเวณี

นัยนา สุพาพึ่ง มูลนิธิธีรนาถกล่าวว่า เราชัดเจนว่าเราจะยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ แต่หากยกเลิกต้องมองว่าถ้าจะเขียนใหม่ให้เป็นประโยชน์อย่างไรกับเรา นั่นคือเขียนในเชิงคุ้มครอง ไม่ใช่เชิงลงโทษ อาจจะต้องมีโมเดล เช่นที่เชียงใหม่ มีการจัดให้เจ้าของสถานบริการ พนักงานบริการ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน มาพูดคุยกันอย่างเข้าใจจริงๆ

พ.ร.บ. นี้เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน น่าท้าทายว่าเราจะส่งกฎหมายฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมันแบ่งแยก กีดกัน จำกัด เพราะในการกระทำเดียวกันพนักงานโดน แต่ลูกค้าไม่โดน เนื่องจากเป็นคนมีอำนาจ มีฐานะทางเศรษฐกิจ มันเลือกปฏิบัติด้านศีลธรรมด้วย

อุษา เลิศศรีสันทัด มูลนิธิผู้หญิงกล่าวว่า ทำอย่างไรจะไม่แก้ปัญหานี้จากกรอบศีลธรรม แต่แก้โดยมองจากกรอบสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงต้องปลอดภัยในการทำงาน เคารพในอาชีพ ไม่ซ้ำเติม ไม่เปิดช่องให้ตำรวจมารีดไถ ต้องมองสถานการณ์ที่ผลักให้ผู้หญิงมาสู่อาชีพนี้ ทางเลือกของผู้หญิงน้อยมาก ต้องเลี้ยงดูพ่อ แม่ ลูก อีกทางเลือกคือฝึกอาชีพอื่นให้ผู้หญิงไปด้วย เพื่อมีทางเลือกอื่นเพิ่มเติม

ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเอาผิดและจดทะเบียนพนักงานบริการ ควรจะให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมแบบแรงงานนอกระบบทั่วไป และเห็นว่าควรฉีกกฎหมายนี้ทิ้ง แล้วประเด็นใดที่ควรระวังให้ไปอยู่ใน พ.ร.บ.สถานบริการ แทน

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของกลุ่มความหลากลหายทางเพศ กลุ่มเกย์ กระเทย อาจไม่ค่อยมีการล่อซื้อ แต่เป็นการจับเลยมากกว่า เนื่องจากภาพลักษณ์เเกย์กระเเทยนั้นถูกตีตราอยู่แล้ว ส่วนรายงาน กสม. โอเคแล้ว ไม่ต้องทำให้เราแยกออกมาต่างหาก ให้เป็นแบบเดียวกันจะดีกว่า

 

ปัญหาละเมิดสิทธิพนักงานบริการตั้งแต่จับกุม กักตัว และตีตราในหนังสือเดินทาง

อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ปีพ.ศ.๒๕๕๙ มีการจับกุมที่สถานอาบอดนวดนาตารี ญาติของผู้หญิงที่ถูกจับกุมร้องเรียน กสม. ว่าญาติถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ

กรณีนาตารีทุกคนเข้ามาทำงานอย่างสมัครใจ ปกติเวลาถูกจับจะถูกปรับแล้วส่งกลับต้นทาง จากทั้งหมด ๒๑ คน มี ๖ คนพำนักในพื้นที่สูงทางเหนือของไทย นอกนั้นเป็นต่างชาติ ต้องถูกส่งตัวไปกักขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู เมื่อปรับแล้วความผิดจบ แต่ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ได้กลับบ้านแต่ถูกกักไว้ เพราะตำรวจอยากให้เป็นพยาน ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน แต่ผู้หญิงกลุ่มนี้กลับถูกนำมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทาง กสม. ได้แนะนำญาติว่าควรใช้สิทธิทางศาล ร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ด้วยข้อหาเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลชี้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัว โดยเฉพาะผู้มีบัตรประจำตัวสีชมพู ส่วนหญิงต่างชาติก็ต้องได้รับการดูแลในฐานะพยานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ซึ่งต่อมาภายในคืนนั้นเองเจ้าหน้าที่ได้ส่งผู้หญิงทั้ง ๖ คนกลับภูมิลำเนา และหาสถานที่อยู่ให้ผู้หญิงคนอื่นในฐานะพยาน และให้ใช้โทรศัพท์ติดต่อญาติได้

กสม. ได้ตรวจสอบ และออกรายงาน การดูแลและปฏิติต่อผู้หญิงในฐานะพนักงานบริการ ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องความอ่อนไหวทางเพศสภาพ

ต่อมากรณีบุกทลายสถานอาบอดนวดวิคตอเรียซีเคร็ทในปีพ.ศ.๒๕๖๑ ก็พบปัญหาไม่ต่างจากเดิม เช่น นำรูปผู้หญิงมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นรูปถ่ายหน้าตรงที่ตำรวจถ่าย เผยแพร่ในสื่อ อนุญาตให้องค์กรเอกชนมาสัมภาษณ์ และผู้หญิงเหล่านี้ไม่รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือทนายความ

กระบวนการสืบพยานมีปัญหา มีการสืบพยานเผชิญหน้ากับ ‘เสี่ย’ หรือผู้มีอิทธิพล แม้พยานอายุเกิน ๑๘ แต่คำสั่งศาลฎีกา ชี้ว่ากรณีใครก็ตามที่หวาดกลัว สามารถร้องขอต่อศาลให้สืบพยานแบบไม่เผชิญหน้า

การเข้าถึงสินไหมทดแทน ปรากฎว่าผู้เสียหายมักได้รับข้อมูลว่าหากรับค่าสินไหมทดแทนนจะเสียเวลา ต้องอยู่เมืองไทยอีกนาน ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่เคยขอรับค่าสินไหมทดแทน

ปัญหาข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลหลังเดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากกคดีสิ้นสุด การคุ้มครองจึงพยานยุติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการถูกสแตมป์ในหนังสือเดินทางว่าเป็นผู้มั่วสุมในสถานประเวณี ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศใดๆที่การค้าประเวณีผิดกฎหมาย และถือเป็นการประจาน

กสม. ให้ความสำคัญกับเรื่องที่สถานค้าบริการถูกกำหนดให้ผิดกฎหมาย ทำให้ผู้หญิงที่เข้าสู่อาชีพเหล่านี้กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาโดยทันที แสดงถึงเจตนามุ่งกำจัดค้าประเวณีให้หมดไป มาจากแนวคิดผู้ค้าประเวณีเป็นเหยื่อ เป็นการกระทำที่กระทบต่อศีลธรรมอันดี

การให้บริการทางเพศที่เป็นไปโดยความสมัครใจของบุคคล ไม่เป็นเหตุจะลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงได้ ต้องได้รับความเคารพเช่นเดียวกับอาชีพอื่น

ข้อเสนอแนะของ กสม. คือรัฐควรทบทวนที่กำหนดให้การค้าประเวณีเป็นความผิดอาญา ควรหามาตรการอื่น ให้พนักงานบริการเข้าไปปมีส่วนในการให้ข้อมูล เพื่อให้เกิดกลไกที่คุ้มครองทุกคนได้อย่างแท้จริง

ล่อซื้อ-รูปหลุด ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ รวบรวมสถิติข้อมูลการละเมิดตั้งแต่ปี ๕๒ และพบว่ามีปัญหาหนักขึ้นตั้งแต่ไทยบังคับใช้กฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งพนักงานบริการเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ปัญหาที่พบมากที่สุดคือสายพานกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การล่อซื้อ เจ้าหน้าที่ดำเนินการวางแผนล่วงหน้าสามเดือน มีการสร้างความสนิทสนม แล้วทำร้ายจิตใจทีหลัง ความรู้สึกของพนักงานบริการคือนี่เรายังเป็นคนอยู่หรือไม่ หรือเป็นแค่สิ่งผิดกฎหมาย เมื่อมีการจับกุม ภาพที่ออกมาคือกลายเป็นอาชญากร ทั้งที่เราเป็นแค่คนทำงานหารายได้ดูแลครอบครัว มีการถ่ายภาพขณะบุกจับ บางภาพเสื้อผ้าน้อยชิ้น

เริ่มร้องเรียนตอนปี๒๕๕๙ กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และเมื่อมีการบุกทลายสถานอาบอบนวดนาตารี พบว่ามีภาพในชั้นสืบสวนสอบสวนของผู้ถูกจับกุมหลุดออกมาทางโซเชียลมีเดีย  หลัง กสม. ตรวจสอบ การจัดการบางอย่างดีขึ้น เช่น มีการแจ้งสิทธิ มีการคัดแยกเหยื่อให้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ไม่ใช่โรงพักหรือ ตม. จากแต่เดิมถูกยึดโทรศัพท์ก็ให้ใช้โทรศัพท์ได้

ชัชลาวัลย์ยังกล่าวถึงกรณีเสนอประเด็นนี้ต่อพรรคการเมืองว่า มีพรรคที่รับฟัง แต่ก็ไม่ได้นำประเด็นนี้เป็นหัวข้อหลักในการทำงาน เช่น พรรคอนาคตใหม่จะจัดประเด็นนี้ไปอยู่ในหัวข้อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือพรรคประชาธิปัตย์จะจัดประเด็นนี้ไปอยู่ในหัวข้อแรงงาน เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวและพรรคยังต้องการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

ไหม จันตา ตัวแทนพนักงานบริการกล่าวว่า จากการล่อซื้อทำให้เราไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนที่ถูกกันไว้เป็นพยาน ได้รับรู้ถึงความทุกข์ใจ ไม่ได้รับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ยา หรือของใช้จำเป็น แม้จะมีคู่มือของ กสม. แต่เราพนักงานบริการก็ไม่ได้รับการปฏิบัติแบบนั้นอย่างแท้จริง หากข้อเสนอแนะ กสม. ภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้

ไหมชี้ว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ ห้ามล่อซื้อผู้หญิง ห้ามบุกจับในขณะที่แก้ผ้า ห้ามสื่อเข้าไปทำข่าว อาจถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ตอนจับกุมได้ การสืบพยานต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว แจ้งสิทธิ ยกเลิกแสตมป์หนังสือเดินทาง

 

ข้อเรียกร้องของพนักงานบริการโดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ที่ร้องให้ กสม. ตรวจสอบ

  • การละเมิดจากการล่อซื้อการค้าประเวณี มีการล่อใจใช้เวลานานกว่าจะจับกุม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับพนักงาน ในบางครั้งมีการร่วมประเวณีก่อนการจับกุม
  • ในระหว่างการจับกุม พนักงานบริการไม่สามารถติดต่อญาติได้ กักตัวโดยไม่แจ้งเหตุการณ์กักตัว ไม่ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น ติดต่อญาติ แจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิ ซักถามในขณะจับกุม เชิงสอบสวน สั่งสอน
  • ถูกละเมิดในกระบวนการจับกุมเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐนำสื่อเข้าไปถ่ายภาพวิดีโอ ในขณะที่มีการจับกุม พนักงานมีเพียงผ้าเช็ดตัวคลุมหัว หรือเสื้อผ้าน้อยชิ้น กับคนจำนวนมากถ่ายรูปภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ
  • กรณีการที่รัฐลงตราในเอกสารเดินทางของพนักงานที่ถูกจับกุมในความผิด “มั่วสุมในสถานค้าประเวณี” ส่งผลกระทบต่อพนักงานบริการอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถกลับเข้าในไทยได้อีก บางคนมีครอบครัวอยู่ในไทยสร้างการตีตราส่งผลต่อการเดินทางไปประเทศอื่นๆอีกด้วย

ขอบคุณรายงานข่าวจากประชาไท https://prachatai.com/journal/2019/08/83792

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Thai / English

บทความล่าสุด
ปฎิทินกิจกรรม
May 2023
M T W T F S S
« Sep    
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031