ปัจจุบัน ความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิง ได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ลิดรอนสิทธิ์ในชีวิตและร่างกายและเกิดขึ้นกับผู้หญิงทั่วโลก โดยไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ ภาษา ตลอดจนเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการบรรลุซึ่งความเสมอภาค การพัฒนาและสันติภาพ

สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติว่า  รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว (มาตรา๗๑) และการทำร้ายร่างกายเป็นการกระทำความผิดทางอาญา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้หญิงที่ถูกทุบตีทำร้ายในครอบครัวจากสามียังถูกเลือกปฏิบัติไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากกลไกที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

 

กรณีศึกษา “เอ”  เออายุ ๓๖ ปี สามีอายุ ๔๘ ปี มีอาชีพทำนาและรับจ้าง ใช้ชีวิตร่วมกันมา ๑๖ ปี  มีลูกด้วยกัน ๔ คน กำลังอยู่ในวัยเรียนทุกคน เอถูกสามีทำร้ายร่างกายตั้งแต่ตั้งท้องลูกชายคนโต สามีทำร้ายเอหนักขึ้นและเคยทำร้ายลูกชายคนโตที่เข้ามาช่วยแม่โดยบีบคอจนตาถลน จนเอต้องใช้มีดพร้าฟันที่หน้าแข้งสามีจึงยอมปล่อย เวลาถูกทำร้ายเอต้องพาลูกๆ หนีไปนอนที่กระต๊อบในทุ่งนาเป็นประจำ ทำให้บางครั้งลูกๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะเพื่อนบ้านไม่กล้าให้เอและลูกหลบภัยเนื่องจากสามีเอจะถือมีดไปขู่ เอเคยขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านและเคยแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่
แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ช่วยอะไรเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องผัวเมีย เอต้องเผชิญความรุนแรงจากสามีเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี

วันเกิดเหตุ เอเกรงว่าหากสามีออกนอกบ้านในวันนั้นจะไปกินเหล้าฉลองผลเลือกตั้งแล้วเมากลับมาทุบตีเธอเช่นทุกครั้ง จึงเตรียมกาแฟให้สามี ขณะที่สามีนั่งจิบกาแฟ เอใช้สันมีดตีที่บริเวณคอด้านหลังหนึ่งที สามีไม่สลบ ด้วยความกลัวว่าสามีจะทำร้ายกลับ เอจึงตีซ้ำอีกสองที จนสามีล้มลง เอยกสามีให้นอนบนแคร่แล้วห่มผ้าให้ จากนั้นจึงออกไปเลือกตั้ง พอกลับมาสามียังนอนอยู่ท่าเดิม จนกระทั่งลูกเรียกให้ไปดูพ่อ พบว่าเสียชีวิตแล้ว  ญาติฝ่ายสามีแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ แต่เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นรอยช้ำที่คอจึงส่งศพพิสูจน์ ภายหลังเอรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำ

 

กรณีศึกษา “บี”

บีอายุ ๔๗ ปี อาชีพทำนา สามีอายุเท่ากัน อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีลูกด้วยกัน ๔ คน เอต้องดูแลแม่อายุ ๗๓ ปีที่ป่วยเป็นวัณโรคและความดัน สามีเริ่มทำร้ายบีตั้งแต่ลูกชายคนแรกอายุได้ ๓ เดือน บีเคยถูกตบจนสลบที่ไปขวางไม่ให้สามีซึ่งกำลังเมานำเสาไม้ที่จะเอาไว้สร้างบ้านใหม่ไปขายเพียงเพื่อเอาเงินไปซื้อเหล้า บีต้องเผชิญความรุนแรงจากสามีเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี

วันเกิดเหตุลูกๆ ไม่อยู่บ้าน สามีเมาเหล้าแล้วหาเรื่องทะเลาะและเดินวนเวียนหาจอบอยู่พักใหญ่จะมาทำร้าย แต่ในที่สุดกลับมานอนบนแคร่ใต้ถุนบ้าน  บีเห็นสามีหลับจึงใช้ค้อนทุบหัวแล้วเอาขวานฟันที่หน้าอกจนแน่ใจว่าเสียชีวิตแล้วนำร่างไปซ่อนไว้ในบ่อปฏิกูลหลังบ้าน หลังเกิดเหตุหนึ่งสัปดาห์ ลูกชายคนโตซึ่งสึกจากพระออกมาได้ถามหาพ่อ บีจึงเล่าความจริงและยอมเข้ามอบตัวหลังเกิดเหตุ ๘ วัน

 

กรณีศึกษา “ซี”

ซีอายุ ๕๐ปี สามีอายุ ๕๔ ปี ทั้งคู่มีอาชีพรับจ้างหล่อพระพุทธรูป มีความสัมพันธ์กันมานาน ๑๔ ปี แต่ไม่ค่อยราบรื่น มีลูกด้วยกัน ๑ คน อยู่ในวัยเรียน  มีลูกติดจากสามีเก่าอีก ๒ คน   ยามใดที่สามีเมามักจะหาเรื่องทุบตี เคยบีบคอซีจนเลือดออกทางจมูกและปากมาแล้ว  ซีเคยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่และมีการบันทึกประจำวันไว้เมื่อปี ๒๕๔๖ ก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งเดือนซียังได้โทรศัพท์แจ้งสถานีตำรวจท้องที่ให้เข้ามาระงับเหตุที่ถูกสามีทำร้าย รวมระยะเวลาที่ซีได้รับความรุนแรงจากสามี ๕ ปี

วันเกิดเหตุเป็นวันก่อนแต่งงานลูกสาวหนึ่งวัน สามีเมาและทำร้ายซีด้วยการบีบคอจากทางด้านหลัง  ซีพยายามดิ้นรนเพราะหายใจไม่ออก และได้ใช้มือความหาสิ่งของที่จะป้องกันตัว ซีคว้าได้มีดจึงตวัดไปด้านหลังโดยไม่ได้หันไปมอง มีดแทงเข้าไปที่ท้องด้านซ้ายของสามี จากนั้นซีก็รีบไปบอกพี่สาวและลูกสาวเพื่อให้โทรขอความช่วยเหลือส่งโรงพยาบาล
แต่สามีเสียชีวิตเสียก่อน  หลังเหตุการณ์ซีได้เข้ามอบตัว

 

……………………

ทางออกของผู้หญิงที่ถูกทุบตี

กรณีศึกษา เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างของสถานการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่ถูกทุบตีส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง โดยไม่ได้รับความคุ้มครองและได้รับการบริการทางด้านสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งนี้เป็นเพราะความรู้สึกอับอายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่กล้าเปิดเผยปัญหาของตน รวมทั้งสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังขาดความตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิงและสังคมโดยรวม เช่น เมื่อผู้หญิงไปแจ้งความ หรือแจ้งตำรวจมาระงับเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะเน้นการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยไม่ได้สนใจต่อความต้องการของผู้หญิง

จากประสบการณ์การทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาของมูลนิธิผู้หญิง พบว่า ผู้หญิงต้องได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ได้รับความกดดัน และเมื่อไม่สามารถถอดทนต่อการถูกทำร้ายต่อไปและหมดหนทางอื่นที่จะพ้นไปจากปัญหาที่เผชิญอยู่ เมื่อถูกทำร้ายอีกครั้ง ผู้หญิงก็ใช้อาวุธตอบโต้หรือป้องกันตัวจนเป็นฝ่ายทำร้ายสามีเสียชีวิต

มูลนิธิผู้หญิงได้ระดมทุนเพื่อตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางแก่ผู้หญิงที่ต้องคดีเหล่านี้รวมถึงสมาชิกในครอบครัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาทนายความในการต่อสู้คดี เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีให้ความยุติธรรมกับผู้หญิง โดยคำนึงถึงสภาพปัญหาที่ผู้หญิงได้รับความกดดันจากการถูกทำร้ายทุบตีตลอดมา และยังประสานให้ได้รับการประกันตัวเพื่อให้ผู้หญิงได้กลับคืนสู่ครอบครัวและมีโอกาสดูแลลูกๆ ของตนเองอีกครั้ง

ในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือ จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก มูลนิธิผู้หญิงจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือจากสาธารณชนเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา ความรุนแรงในครอบครัวขึ้น

 

กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

วัตถุประสงค์

1. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหาทนายความ เมื่อผู้ประสบปญหาถูกดำเนินคดี

2. จัดบริการทางสังคมสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

3. สร้างชีวิตใหม่ ด้วยการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและสร้างทางเลือกประกอบอาชีพแก่ผู้ประสบปัญหา

4. เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการยุติสายใยแห่งความรุนแรง

5. สร้างเครือข่ายร่วมมือ ประกันตัวแก่ผู้หญิงที่ต้องคดีจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ผู้สนใจต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือและสร้างทางเลือกให้กับผู้หญิงและเด็กที่กำลังเผชิญกับการทุบตีทำร้ายในครอบครัว สามารถติดต่อได้ที่

ฝ่ายสำนักงาน

มูลนิธิผู้หญิง 295 จรัญสนิทวงศ์ ซอย 62 บางกอกน้อย กทม. 10700 โทร. 0-2433-5149, 0-2435-1246 โทรสาร 0-24346774

e-mail : info@womenthai.org

 

ท่านสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้โดยวิธีการต่างๆ ดังนี้

 

ข้าพเจ้า…………………………………………………………………………………………………………

หน่วยงาน  / องค์กร ………………………………………………………………………………………..

ที่อยู่……………………………………………………………………………………………………………..

……………………………………………………….โทร……………………………………………………….

มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนกองทุน

ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดย บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกองทุนฯ

 

1. ส่งธนาณัติในนาม “มูลนิธิผู้หญิง” ตู้ ปณ. 47 ปทจ. บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

จำนวนเงิน ………. บาท

2. สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ในนาม “มูลนิธิผู้หญิง” ขีดคร่อมเข้าบัญชี Accout Payee Only จำนวนเงิน………………..บาท

3. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร “มูลนิธิผู้หญิง” บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย

สาขาถนนสาธร เลขที่บัญชี 038-2-18085-2 จำนวนเงิน…………………………………………….. บาท

 

ยินดีให้ความร่วมมือในการประกันตัวผู้หญิงที่ต้องคดี

อันเนื่องมาจากความรุนแรงในครอบครัว

 

หากต้องการแบบฟอร์มในการขอสนับสนุนเพื่อส่ง Fax ดาวโหลดได้ที่นี่